เบาหวาน ถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย ในการนำน้ำตาลไปใช้ เพราะฉะนั้นคนไข้จะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ สาเหตุนี้เกิดจากมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนลดลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรับประทานน้ำตาลมากหรือน้อย แต่เกี่ยวกับการรับประทานไปแล้วร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลได้
โรคเบาหวานมีอยู่ 4 ชนิด ประมาณ 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 จากสาเหตุข้างต้น คือ เกิดจากมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนลดลง อาการก็คือ พอคนไข้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ ไตจะเก็บน้ำตาลได้ไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร คนไข้ก็จะปัสสาวะบ่อย พอปัสสาวะบ่อยมากก็จะเสียน้ำ หิวน้ำบ่อย และคนไข้ที่รับประทานอาหารเยอะ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปก็ไม่สามารถนำเอาน้ำตาล หรือพลังงานไปใช้ได้ น้ำหนักก็จะลด อาการหลักๆ ของโรคเบาหวาน ก็มีหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย รับประทานอาหารเยอะ น้ำหนักลด และอาจจะติดเชื้อราบางที่ได้ง่ายๆ
ส่วนอีก 3 ชนิด ที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน คือ ชนิดที่ 1 เบาหวานตั้งแต่กำเนิด ชนิดที่ 3 เบาหวานที่มีลักษณะจำเพาะ เช่น เป็นเนื้องอกของตับอ่อนแล้วต้องผ่าตัดตับอ่อนออกไป แล้วทำให้ขาดฮอร์โมนอินซูลินทำให้เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 4 เบาหวานขณะตั้งครรภ์
ใครบ้างเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- กรรมพันธุ์
- อายุมากกว่า 35 ปี (เริ่มมีความเสี่ยง)
- มีภาวะอ้วน หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 25
- เคยตรวจสุขภาพแล้วมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
รู้เท่าทัน เบาหวานแฝง เพื่อป้องกันอย่างถูกวิธี
ภาวะเบาหวานแฝงก็เสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานจริงได้สำหรับคุณผู้หญิง ถ้ามีประวัติครอบครัวว่าเคยเป็นถุงน้ำรังไข่ หรือว่าเป็นซีสต์เยอะ ในรังไข่และมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือว่าคลอดบุตรน้ำหนักของบุตร เกิน 4,000 กรัม หลังการคลอดบุตรจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็น และอีก 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจโรคเบาหวาน คือ
- โรคหัวใจ
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคความดันโลหิตสูง
นอกจากความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว สำหรับบางคนที่คิดว่าตัวเองไม่เป็นหรือว่าป่วยเป็นโรคอื่นแต่จริงๆแล้วมารับการตรวจกลับพบว่าเป็นโรคเบาหวานก็จะเจอได้เรื่อยๆ เพราะว่าได้รับการตรวจจากคุณหมอแผนกอื่น เช่น คนไข้มาด้วยเรื่องตามัว พอมาตรวจกับคุณหมอตาก็พบว่ามีเบาหวานขึ้นตาแล้ว เพราะว่าคนไข้ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ พอตรวจพบเบาหวานขึ้นตาคุณหมอตาก็จะมีการตรวจเลือดให้ครบ เมื่อพบว่าเป็นเบาหวานก็จะส่งมาปรึกษากับคุณหมอเบาหวานต่อไป
ระดับน้ำตาลเท่าไร? ถึงเป็นโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยและการตรวจโรคเบาหวาน ดูจากปริมาณน้ำตาลในเลือด ดูภาวะแทรกซ้อน และดูโรคที่เกิดร่วมด้วย ในการวินิจฉัยเราจะแนะนำคนไข้ว่าควรตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง ก่อนตรวจต้องงดอาหารทุกอย่างเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ดื่มน้ำเปล่าได้อย่าดื่มน้ำที่มีพลังงาน แล้วมาตรวจน้ำตาลตอนเช้า คนปกติก่อนรับประทานอาหารต้องมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าตรวจพบน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป และตรวจพบ 2 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้
แนวทางการรักษา
จะต้องดูคนไข้เป็นองค์รวม อันดับแรกเราจะคิดว่ามาพบแพทย์แล้วรับประทานยาอย่างเดียว จริงๆ แล้วการรักษาโรคเบาหวานที่ถูกต้อง เราจะเน้นการรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพ คือ นอกจากจะมาพบแพทย์ก็ยังมีนักกายภาพบำบัดมีการตรวจเท้า มีการสอนการออกกำลังกาย มีการพบนักกำหนดอาหารหรือนักโภชนากร เพื่อแนะนำอาหารว่ามีการรับประทานอาหารที่ถูกต้องดีพอหรือไม่ ต้องปรับตรงไหนบ้าง พบเภสัชกรแนะนำยาที่ถูกต้อง จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้างและต้องแก้ไขอย่างไร แต่สำหรับบางท่านที่จะต้องพบแพทย์หลายสาขา เพราะโรคเบาหวานจะพบว่ามีโรคร่วมบ่อยมาก อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันในเลือดสูง
นอกจากนี้ ถ้าคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี หรือว่าวินิจฉัยช้าหรือเป็นมานานแล้ว ก็จะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะสำคัญอย่างตาและไตได้ คนไข้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเสียชีวิตกันเพราะโรคเบาหวาน แต่จะเสียชีวิตเพราะภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานตามสถิติการเสียชีวิตส่วนใหญ่ เกินครึ่งเป็นจากเรื่องของเส้นเลือดหัวใจมากกว่าฉะนั้นต้องรักษาอย่างถูกวิธี เพราะน้ำตาลที่สูงทำให้เส้นเลือดอักเสบแล้วตีบ จึงเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบเส้นเลือดสมองตีบค่อนข้างมากถ้าคุมได้ไม่ดี
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวาน
ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะว่าถ้าตรวจเจอตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่จะให้การรักษาได้ดีกว่าที่จะมารักษาตอนเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ส่วนการวินิจฉัยโรคเบาหวาน ถ้าเป็นครั้งแรกจะค่อนข้างตกใจ ตื่นเต้น และกลัว จริงๆแล้วเป็นโรคที่เจอบ่อยในคนไทย หากดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมา ทั้งหมดจะมีโอกาสเกิดน้อย
ผู้ป่วย “เบาหวาน” กับ 8 อันตรายจากอาหารหน้าร้อน
การรับประทานของเย็นๆ หวานๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มักจะใช้ดับร้อนในช่วงที่ฤดูร้อนมาเยือน เช่นไอศกรีม น้ำหวาน น้ำอัดลม สมูทตี้ ขนมหวาน ผลไม้แช่เย็น และเครื่องดื่มแช่เย็นประเภทอื่นๆ แต่เมื่อทานมากเกิดไปจะสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะน้ำตาลและไขมันที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
นักกำหนดอาหาร ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ. กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ในหน้าร้อนผู้ป่วยเบาหวานควรระวังเรื่องอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นพิเศษ ดังนี้
- เครื่องดื่มเย็นๆ เช่น สมูทตี้ น้ำผลไม้ ไม่ควรเติมน้ำเชื่อมหรือน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป และควรดื่มในปริมาณที่น้อย
- เมนูของหวานหรือขนมหวานใส่น้ำแข็งรับประทาน ไม่ควรเติมน้ำเชื่อมหรือกะทิมากเกินไป น้ำอัดลมควรเลือกสูตรที่ไม่มีน้ำตาล
- เลือกรับประทานผลไม้สดแช่เย็นแทนการดื่มน้ำผลไม้กล่องหรือน้ำผลไม้คั้นสด และไม่ควรทานในปริมาณที่มากเกินไป หรือไม่ควรทานแทนข้าวในมื้ออาหารนั้นๆ ปริมาณที่แนะนำต่อมื้อไม่เกิน 10-15 ชิ้นคำสำหรับผู้เป็นเบาหวาน
- เลือกผักผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก เช่น แตงโม สับปะรด แคนตาลูป ชมพู่ แก้วมังกร เป็นต้น
- เลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัดหรือผลไม้จิ้มพริกเกลือน้ำตาล
- ควรดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนดื่มน้ำให้ได้วันละ 1 ลิตร หรืออย่างน้อย 6-8 แก้ว เพราะหน้าร้อนร่างกายจะเสียงเหงื่อมาก
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิด และไม่ควรทำให้ตัวเองเกิดความเครียดหรือวิตกกังวล ควรทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน
- รักษาความสะอาดและถูกหลักอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือทุกครั้ง
นอกจากจะต้องระวังเรื่องอาหารแล้ว ควรระวังเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหารเครื่องดื่มด้วย เพราะอาจทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและอาการท้องร่วงได้ โดยอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในหน้าร้อน เช่น อาหารประเภทกะทิ อาหารประเภทยำ ขนมจีน อาหารทะเล อาหารค้างคืน อาหารที่มีแมลงวันตอม นำดื่มและน้ำแข็งที่ไม่สะอาด
ในส่วนของเมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ส้มตำ สลัดผัก ซาชิมิ ลาบ ก้อยดิบ ยำหอยแครง ยำปูม้าดิบ ข้าวผัดโรยเนื้อปู ขนมที่มีกะทิ เอแคลร์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ เป็นต้น เลี่ยงอาหารที่มีรสจัด หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด
นอกจากนี้และไม่ควรออกไปอยู่ข้างนอกหากมีอากาศที่ร้อนจัด เพื่อเป็นการควบคุมอุณหภูมิของอินซูลินด้วย เพราะอินซูลินควรอยู่ในอุณหภูมิห้อง ไม่ควรวางอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนมากจนเกินไป
หากทำตามคำแนะนำดังกล่าว ผู้ป่วยก็จะสามารถควบคุมเบาหวาน ความดัน และโรคระบบทางเดินอาหารในหน้าร้อนนี้ได้