
อาการเสียชีวิตที่เหมือนนอนหลับแล้วเสียชีวิตไปเฉยๆ เข้าไปปลุก เขย่าตัวอย่างไรก็ไม่ฟื้น ไม่พบร่องรอยอาการทรมานหรือผิดปกติใดๆ อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นอาการ ไหลตาย
โรคไหลตาย คืออะไร
รศ.พญ. สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์ แพทย์ประจำสาขาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการไหลตาย หรือ หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของการนำเกลือแร่โซเดียมเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง และเสียชีวิตกะทันหันได้
โรคไหลตาย โรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน ความน่ากลัวของโรคนี้คือการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อนเลย
สาเหตุของโรคไหลตาย

- บริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
- ขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดีๆ รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที
- มีความผิดปกติของหัวใจ อาจพบว่ามีอาการเต้นระริกของหัวใจ เกิดจากหัวใจห้องล่างเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทำให้มีการเต้นไม่สม่ำเสมอ เกิดไฟฟ้ามากระตุ้นให้เป็นจุดเล็กๆ ทำให้หัวใจห้องล่างบีบตัวไม่ได้ และสั่นระริกๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ ภายใน 30 วินาทีจะเป็นลมหมดสติ 4 นาทีต่อมาถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นสมองจะตาย และภายใน 6-7 นาที ถ้ายังไม่หายก็จะเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ยังพบว่า โรคไหลตายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุพโภชนาการ และสุขนิสัยการกินที่ผิด
อาการที่สังเกตได้ สัญญาณอันตรายของโรคไหลตาย

อาการของโรคไหลตายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและใช้ระยะเวลาสั้นก่อนที่ร่างกายจะเป็นอันตรายจนถึงชีวิต โดยใช้เวลาเพียง 3-4 นาทีเท่านั้น อาการที่สังเกตได้เมื่อมีอาการ ได้แก่
- แขนและขาเกร็ง
- หายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม
- บางรายปัสสาวะและอุจจาระราด เพราะสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทโดยอัตโนมัติ
- ผู้ป่วยจะมีใบหน้าและริมฝีปากเขียวคล้ำ
หากช่วยเหลือไม่ทันการณ์ อาจเสี่ยงเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือสมองอาจพิการถาวรหากขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน
ปัจจัยเสี่ยงโรคไหลตาย

ปัจจัยส่งเสริมอาการ ไหลตาย ในผู้ที่มีความผิดปกติจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงจนอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ได้แก่
- มีไข้สูง
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ใช้ยานอนหลับ
- ขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม
วิธีรักษาโรคไหลตาย

- หากในรายที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไหลตายสูง ควรลดและเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมอาการให้เกิดขึ้นต่างๆ เช่น ถ้ามีไข้สูง ให้รับลดไข้ด้วยการรับประทานยาลดไข้ เช็ดตัว ลดหรือเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- ฝังเครื่องกระตุกหัวใจเข้าไปในร่างกาย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการไหลตาย

- จับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาล
- ประเมินผู้ป่วย หากไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกให้ยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุดในความถี่ราว 100 ครั้ง/นาที จนผู้ป่วยรู้ตัว
- ไม่ควรงัดปากผู้ป่วยด้วยของแข็ง เพราะอาจเป็นอันตรายและระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคไหลตายอาจมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน