ท้องอืด

ท้องอืด จะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืด ก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรงได้ เช่น หากเกิดอาการท้องอืดนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น รวมถึงน้ำหนักลด ซีด เบื่ออาหาร ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง ดังนั้นถ้าท้องอืดอย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด

ท้องอืด
อาการท้องอืด

อาการท้องอืด คือ ความรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้อึดอัดไม่สบายตัว อาจมีอาการปวดท้องคลื่นไส้ หรืออยากอาหารน้อยลง ซึ่งโดยปกติแล้ว การมีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารนั้น อาจเกิดจากการกินอาหาร ทั้งลักษณะอาหาร และชนิดของอาหาร การสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ซึ่งมีผลในการกดระบบประสาท และทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน

สำหรับบางรายที่มีอาการท้องอืดมาก หรือนาน อาจเนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับ ทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะเป็นแผล มะเร็งทางเดินอาหารหรือลำไส้ มีการติดเชื้อพวกพยาธิ โรคลำไส้แปรปรวน หรือเป็นการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้เอง รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบอื่นๆ เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ก็สามารถทำให้เกิด อาการท้องอืดร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการตรวจเพิ่มเติม

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ ต่างหรือเหมือนกัน

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ เป็นคำรวมๆ ใช้เรียกอาการในกลุ่มลักษณะนี้ คือ มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากจนรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ท้องอาจโตขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย หรืออาจมีผายลมมากกว่าปกติ บางครั้งได้เรอหรือผายลมแล้วรู้สึกดีขึ้น

การรักษา

หากมีอาการดังที่กล่าวมา โดยไม่พบสัญญาณเตือน สามารถเลือกรับประทานยาขับลม หรือช่วยย่อย และปรับพฤติกรรมการกิน แต่ถ้าเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจสืบค้น สาเหตุของอาการโดยละเอียด

ท้องอืด
การดูแลตัวเองเบื้องต้น

หากเกิดอาการ ท้องอืดอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะแม้ท้องอืดจะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืดก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรง หรือพัฒนาไปสู่โรคอื่นๆ ได้

อาการท้องอืด  แน่นท้อง ท้องผูก และเหมือนพุงจะใหญ่ขึ้นด้วย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

อาการท้องผูก แน่นท้อง อาจเกิดจากพฤติกรรม เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ค่อยขยับร่างกาย หรืออาจเกิดจากยาบางตัวที่ทำให้ท้องผูก ที่พบได้บ่อยคือ แคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคฮอร์โมนไธรอยด์ต่ำ โรคทางระบบประสาท นอกจากนั้นอาจเกิดจากมีความผิดปกติของลำไส้เอง เช่น มะเร็งลำไส้

โดยปกติแล้วการขับถ่ายที่ดีควรเป็นอย่างไร

การขับถ่ายปกติคือการถ่ายไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน และไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยลักษณะอุจจาระต้องปกติ ไม่เหลว หรือแข็งเกินไป

ถ้าไม่ได้ขับถ่ายทุกวันจะถือว่าผิดปกติหรือไม่

ไม่ผิดปกติ ถ้าถ่ายวันเว้นวัน และอุจจาระไม่แข็ง หรือเป็นเม็ดๆ

ถ้าอยากให้การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติควรทำอย่างไร

ถ้าปรับพฤติกรรมแล้ว ยังไม่ดีขึ้น และมีอาการร่วมอย่างอื่น เช่น ปวดท้อง ถ่ายมีเลือดปน ผอมลง น้ำหนักลด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง

วินิจฉัยอาการด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสีย เป็นระยะเวลานาน หรือมากกว่า 2-3 สัปดาห์ โดยที่ไม่บรรเทาลงเลยหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป ปวดท้อง เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง ถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือด ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน

โดยในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ สอบถามถึงอาการป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้น แต่หากอาการรุนแรงหรือสาเหตุของโรคไม่ชัดเจน แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (EGD) โดยการสอดกล้องเข้าไปทางปากแล้วตรวจอวัยวะต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหาร เป็นมาตรฐานเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อีกทั้ง เป็นการตรวจที่สามารถทำได้ง่ายใช้เวลาไม่นาน และในโรคบางโรคแพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันที

อย่างไรก็ตาม การป้องกันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ สามารถทำได้ตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการ ไม่รับประทานอาหารปริมาณมากเกินไป รวมทั้งรักษาความสะอาดและเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยเพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังควรสำรวจความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และควรรีบปรึกษาแพทย์หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องเสียที่ผิดปกติ

2 Responses

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *