อินซูลิน แบบยาฉีดแบ่งประเภทตามการออกฤทธิ์ของยาได้เป็น 4 ประเภท คือ Rapid-acting Insulin, Short-acting Insulin, Intermediate-acting Insulin, Long-acting Insulin
ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องฉีดอินซูลินเข้าบริเวณกล้ามเนื้อ หลอดเลือดดำ และใต้ผิวหนัง เพื่อให้อินซูลินเข้าไปลดและรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด
เครื่องมือที่ใช้ในการฉีดอินซูลิน มีให้เลือกทั้งแบบปากกาฉีดอินซูลิน (Insulin Pen) อินซูลินปั๊ม (Insulin Pump) และหลอดฉีดยา (Syringe insulin)
อินซูลิน คืออะไร?
อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้จากตับอ่อน โดยอินซูลินจะทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของระดับกลูโคสในเลือด และยังช่วยให้เซลล์ในร่างกายเก็บสะสมกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน และยังช่วยเก็บกลูโคสส่วนเกินไว้ในตับเพื่อให้ร่างกายเอามาใช้เป็นพลังงานได้เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
อินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีภาวะผิดปกติของอินซูลิน จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หลักๆ แล้วจะพบโรคเบาหวาน 2 ชนิดคือ
- เบาหวานชนิดที่ 1: เป็นเบาหวานที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายเซลล์ผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายขาดอินซูลิน ผลที่ตามมาคือระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- เบาหวานชนิดที่ 2: เป็นเบาหวานที่เกิดจากการดื้ออินซูลิน เนื่องจากเซลล์ในร่างกายไม่รับอินซูลินเข้าไป จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
ดังนั้นจึงมีการผลิตอินซูลินทดแทนโดยการฉีดเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด
ประเภทของอินซูลิน
- อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting insulin): โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15-30 นาทีหลังฉีด มักใช้ฉีดก่อนมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหารไม่เกิน 15 นาที
- อินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น (Short-acting insulin): โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30-60 นาทีหลังฉีด และมีระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้ทั้งหมด 5-8 ชั่วโมง
- อินซูลินที่ออกฤทธิ์นานปานกลาง (Intermediate-acting insulin): โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีด และมีระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้ทั้งหมด 14-16 ชั่วโมง
- อินซูลินที่ออกฤทธิ์ยาว (Long-acting insulin): โดยจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากฉีดไปแล้ว 2 ชั่วโมง และมีระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
อินซูลินมีลักษณะเป็นน้ำใสและน้ำขุ่น โดยมีทั้งโครงสร้างคล้ายอินซูลินที่ร่างกายผลิตเองได้ หรือที่เรียกว่า ฮิวแมนอินซูลิน (Human insulin) และมีทั้งการดัดแปลงจากฮิวแมนอินซูลินให้ออกฤทธิ์ได้ตามต้องการ เรียกว่า อินซูลินอะนาล็อก (Insulin analog) ซึ่งสามารถแบ่งตามระยะเวลาการออกฤทธิ์เป็น 4 ประเภท ดังนี้
การออกฤทธิ์ของอินซูลิน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อินซูลินแบบฉีดจะเข้าไปแทนที่อินซูลินตามธรรมชาติที่ร่างกายไม่สามารถผลิตได้ ส่วนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะใช้การฉีดอินซูลินก็ต่อเมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อฉีดแล้วอินซูลินจะเข้าไปควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากมีปริมาณน้ำตาลหรือกลูโคสยังสูงอยู่ อินซูลินจะทำหน้าที่นำกลูโคสไปเก็บไว้ที่ตับในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) เพื่อสำรองไว้ใช้เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง
รูปแบบของอินซูลิน
อินซูลินที่ใช้ในปัจจุบันเป็นรูปแบบของยาฉีด โดยจะฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อ หลอดเลือดดำ และใต้ผิวหนัง เป็นต้น
วิธีใช้อินซูลิน และปริมาณที่เหมาะสม
วิธีการใช้อินซูลินโดยการฉีด มีดังนี้
- ควรเลือกตำแหน่งในการฉีดที่เหมาะสม เช่น บริเวณหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา สะโพก หากเลือกฉีดบริเวณหน้าท้องต้องเว้นระยะให้ห่างจากสะดืออย่างน้อย 1 – 2 นิ้ว ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ฉีดซ้ำตำแหน่งเดิมและไม่ควรฉีดใกล้ตำแหน่งเดิมในระยะ 1 นิ้ว รวมถึงไม่ฉีดในบริเวณผิวหนังที่มีอาการอักเสบ เป็นแผล รอยผ่าตัด ไฝ รากขน และบริเวณก้อนไขมันใต้ผิวหนัง
- ใช้มือข้างที่ถนัดถือเครื่องมือที่ใช้ในการฉีดอินซูลินอย่างถนัดมือ จากนั้นให้ดึงผิวหนังจากตำแหน่งที่เลือกออกมาให้ตึง โดยไม่ควรดึงหรือบีบแรงจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดการตีกลับของยาได้
- ให้ถือเครื่องมือที่ใช้ในการฉีดอินซูลินตั้งฉากกับผิวหนัง จากนั้นค่อยๆ กดเข็มเข้าไปในผิวหนังจนมิดพร้อมๆ กับดันยาเข้าไปด้วย แล้วค้างไว้เป็นเวลา 10 วินาทีก่อนจะค่อยๆ ดึงเข็มออกอย่างเบามือ
- เมื่อดึงเข็มออกเสร็จเรียบร้อย ให้นำสำลีมากดบริเวณที่ฉีดอย่างเบามือ และไม่ควรกดแรงหรือถูวนแรงๆ บริเวณที่ฉีด
ปริมาณอินซูลินที่เหมาะสมในการฉีด จะต้องได้รับการประเมินระดับน้ำตาลและแนวโน้มของความไวต่ออินซูลินของแต่ละบุคคลก่อนใช้ โดยเบื้องต้นแพทย์จะให้เริ่มต้นใช้ที่ขนาด 0.4-0.6 ยูนิตต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันและจะให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็มักขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่แพทย์วินิจฉัยร่วมด้วย
ข้อควรระวังในการใช้อินซูลิน
- ห้ามใช้ปากกาฉีดอินซูลินหรืออุปกรณ์ฉีดอินซูลินร่วมกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด เพราะอาจติดเชื้อต่างๆ ได้ เช่น เชื้อ HIV, เชื้อไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการแพ้ยา รวมถึงอาการแพ้ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น เช่น แพ้สารกันบูด แพ้เนื้อสัตว์ ฯลฯ
- ผู้ที่สามารถใช้อินซูลินได้ คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ผู้ป่วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์โดยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจากตับอ่อนถูกทำลาย เป็นต้น
- ผู้ที่ไม่ควรใช้อินซูลิน คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลต่ำ ผู้ที่มีประวัติเคยแพ้ยาหรือสารประกอบของยา เป็นต้น
- ในระหว่างที่ใช้อินซูลินไม่ควรรับประทานยาตัวอื่นโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางตัวอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น ยาแอสไพริน ยารักษาหอบหืด ยาแก้ไข้ แก้ไอ ยารักษาไซนัสอักเสบ เป็นต้น
- ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่คิดว่าตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการใช้อินซูลิน เนื่องจากระดับอินซูสินสามารถส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
- หญิงที่ให้นมบุตรสามารถใช้อินซูลินได้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนด โดยอินซูลินจะไม่ผ่านทางน้ำนมไปสู่เด็ก
ผลข้างเคียงและอาการแพ้อินซูลิน
เบื้องต้นผู้ที่มีผลข้างเคียงหรือมีอาการแพ้อินซูลิน ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
- ในผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) มักมีอาการปวดศีรษะ เหงื่อออกผิดปกติ ใจสั่น กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ปากหรือริมฝีปากชา หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล สายตาพร่ามัว เป็นลม เป็นต้น
- ในผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) มักมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ รู้สึกหิว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบลอ หน้ามืด เป็นต้น