หากมี คอเลสเตอรอล สูง การกินไข่แดงถือเป็นเรื่องต้องห้ามจริงหรือไม่ มีความเชื่อใดๆ ที่ไม่ถูกต้องอีกหรือเปล่า
ผศ. พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จาก RAMA Channel ระบุถึงความเชื่อหลายๆ อย่างที่คนไทยอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะคอเลสเตอรอลสูง ดังนี้
คอเลสเตอรอล สูง ห้ามกินไข่แดง?
ไม่เป็นความจริง ทางการแพทย์ไม่เคย “ห้าม” กินไข่แดงในคนที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง แต่อยากให้ “จำกัด” ปริมาณในการรับประทานไข่แดงอย่างเหมาะสม ไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ แต่สำหรับไข่ขาว สามารถรับประทานได้
คอเลสเตอรอลสูง ไม่ควรออกกำลังกาย
ไม่เป็นความจริง ปกติแล้วคอเลสเตอรอลจะมีทั้งคอเลสเตอรอลตัวดี และคอเลสเตอรอลตัวเลว การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลตัวที่ดีต่อร่างกายได้ เพราะฉะนั้นในคนที่มีคอเลสเตอรอลสูง แนะนำให้ออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดี และจะช่วยให้สุขภาพของหลอดเลือดและหัวใจดีขึ้นด้วย
คอเลสเตอรอลสูง ต้องกินยาตลอดชีวิต
เป็นเรื่องจริง หากเมื่อไรก็ตามที่แพทย์พิจารณาให้การรักษาด้วยการกินยา นั่นคือการที่แพทย์พยายามให้กินยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดอุดตัน แตก ตีบ หากเป็นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต แพทย์อาจพิจารณาให้กินยาไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดแย่ไปกว่าเดิม
แต่สำหรับคนที่อายุน้อย และมีความเสี่ยงไม่มาก ไม่มีความเสี่ยง
โรคเบาหวาน ความดัน ไม่สูบบุหรี่ หรือไม่มีความเสี่ยงโรคอันตรายอะไรมากนัก แพทย์อาจพิจารณาให้ควบคุมอาหาร และติดตามอาการต่อไป
ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้
มาทำความรู้จักกับ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) กันดีกว่า….
โคเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่พบเฉพาะในสัตว์แม้จะไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่มีประโยชน์ในการสร้างกรดน้ำดีสำหรับย่อยไขมันในอาหาร สร้างวิตามินดี และฮอร์โมนบางชนิดรวมทั้งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ต่างๆ โดยส่วนหนึ่งของโคเลสเตอรอลนั้นร่างกายสร้างได้เอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน
ชนิดของโคเลสเตอรอลในเลือด
- LDL-cholesterol (โคเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือไขมันเลว) หากมีมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันได้
- HDL-cholesterol (โคเลสเตอรอลชนิดที่ดีหรือไขมันดี) ทำหน้าที่ขนส่ง LDL-cholesterol บางส่วนจากหลอดเลือดแดงเพื่อนำกลับไปใช้ที่ตับ ซึ่งการมีระดับ HDL-cholesterol ในเลือดต่ำ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
ระดับโคเลสเตอรอลที่เหมาะสม
- ค่าโคเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) ที่ได้จากการตรวจเลือดควรมีค่าน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- LDL-cholesterol ควรมีค่าน้อยกว่า 100-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล
- HDL-cholesterol ควรมีค่ามากกว่า 40-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร