นิโคติน คือ สารเคมีให้โทษชนิดหนึ่ง ที่พบในกลุ่มยาสูบ เช่น บุหรี่ ซิการ์ ไปป์ สารนิโคตินส่งผลต่อสมอง และระบบประสาท มีฤทธิ์ในทางการเสพติด เนื่องจากนิโคตินที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จะมีผลทำให้เกิดการหลั่งสารเอพิเนฟรีน ที่ต่อมหมวกไต ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสพติดสารนิโคติน ร่างกายต้องการนิโคตินเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลต่อการสูบบุหรี่ หรือยาสูบอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด
นิโคตินส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร
เมื่อสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ที่มีนิโคติน จะมีผลต่อสมองภายในเวลาประมาณ 10 วินาที ส่วนการสูบยาสูบอื่น ๆ เช่น ซิการ์ หรือบุหรี่ไร้ควัน สารนี้จะถูกดูดซึมผ่านทางเนื้อเยื่อผิวหนัง เยื่อเมือกภายในจมูกและปาก ซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปยังปอด และออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นให้เกิด การหลั่งสารเอพิเนฟรีน และสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ หรือมีความสุข นอกจากนั้น ยังเป็นผลให้ผู้ที่ได้รับสารนิโคตินอาจมีอาการ อย่างความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นิโคติน สามารถส่งผลคลายความกังวล ทำให้เกิดความผ่อนคลาย หรือง่วงนอนได้ด้วย ทั้งนี้ การออกฤทธิ์ของนิโคติน ขึ้นอยู่กับระดับความตื่นตัว ของระบบประสาทกับปริมาณนิโคตินที่ถูกเสพเข้าไปด้วย
ตัวอย่างอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลง ทางระบบประสาท ได้แก่
- กระตุ้นให้อารมณ์ดี
- ทำให้รู้สึกสบาย
- ลดความรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายใจ
- ลดอาการซึมเศร้า
- ลดความอยากอาหาร
- เพิ่มสมาธิ และเพิ่มประสิทธิภาพ ในการจำระยะสั้น
ระดับของสารนิโคติน ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมอง ขึ้นอยู่กับวิธีการ และปริมาณที่สูบเข้าไปด้วย เช่น สารนิโคตินจะถูกดูดซึมผ่านการสูบ และหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปได้เร็วกว่าผู้ที่สูบซิการ์หรือไปป์ ซึ่งมักไม่ได้สูดควันเข้าไปในร่างกายด้วย
นิโคตินกระทบต่อชีวิตนักสูบอย่างไรบ้าง
เมื่อเสพติดนิโคติน นักสูบจะไม่สามารถหยุดสูบได้ แม้จะพยายามเลิกสูบ หลายต่อหลายครั้ง หรือแม้ทราบว่าการสูบ จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา
ภาวะขาดนิโคติน
เมื่อไม่ได้รับสารนิโคติน ผู้เสพจะเผชิญกับภาวะ อาการขาดสารนิโคติน ซึ่งอาจประกอบด้วยอาการกระสับกระส่าย ขาดสมาธิ ปวดหัว มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จากความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้น หัวใจเต้นช้าลง นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า โดยอาการเหล่านี้จะปรากฏชัดมาก และรุนแรงที่สุดในช่วงวันแรก ๆ ที่ร่างกายขาดสารนิโคติน แต่จะค่อย ๆ ทุเลาลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปภายใน 1 เดือนให้หลัง
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
นักสูบอาจมีพฤติกรรม หรือมีความยากลำบาก ในการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยพวกเขาอาจหลีกเลี่ยงการพบปะ การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นลดน้อยลง เนื่องจากไม่สามารถอยู่ในสถานที่ หรือสถานการณ์ที่ไม่อาจสูบบุหรี่ได้ เช่น เลี่ยงการอยู่ในเขตปลอดบุหรี่ เลี่ยงการรับประทานอาหารในห้องแอร์ซึ่งไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่
ปัญหาสุขภาพ
เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ เช่น
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- มีปัญหาช่องปาก มีกลิ่นปาก หรือเป็นโรคเหงือกและฟัน
- บาดแผลสมานตัวช้าลง โดยเฉพาะหลังการผ่าตัด
- ประสิทธิภาพในการรับรสหรือกลิ่นลดลง
- ผิวหนังเหี่ยวย่น
- ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือภาวะมีบุตรยาก
- อาการป่วยเกี่ยวกับหลอดลม
- โรคถุงลมโป่งพอง
- การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ที่อาจทำให้เกิด อาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน หรือลิ่มเลือดอาจไหลไปอุดตัน ที่ปอดได้ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิต
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- มะเร็งปอด
ยิ่งไปกว่านั้น ควันจากการสูบ หรือควันบุหรี่มือสอง อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลใกล้ชิดที่สูดดมเข้าไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้เช่นกัน เช่น อาการแพ้ต่าง ๆ หรือการติดเชื้อบริเวณตา จมูก ลำคอ และในระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรงปอด มะเร็งปอด เป็นต้น
เทคนิครับมืออาการขาดสารนิโคติน
หลังเลิกสูบ ผู้ป่วยอาจต้องเผชิญอาการต่าง ๆ ในภาวะขาดนิโคติน วิธีการและแนวทางปฏิบัติง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้สามารถรับมือกับอาการเหล่านั้นได้ เช่น
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยรักษาบรรเทาอาการซึมเศร้าและเมื่อยล้าจากการขาดสาร แต่ต้องไม่ออกกำลังกายก่อนเข้านอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ โดยควรออกกำลังกายทิ้งช่วงห่างกับเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ เมื่อขาดนิโคติน ร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลีย ควรพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู
- หันเหความสนใจจากการสูบ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปสูบอีก โดยควรหากิจกรรมที่ตนสนใจและสร้างสรรค์ทำ เช่น การผ่อนคลายด้วยการเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต เดินเล่น หรือตั้งเป้าหมายให้รางวัลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นต้น
- อยู่ห่างจากสถานการณ์ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ และอยู่ห่างไกลจากผู้ที่กำลังสูบบุหรี่
- เรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียดและการจัดการปัญหา เช่น การทำสมาธิ สูดหายใจลึก ๆ หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ
- ขอกำลังใจและการสนับสนุนจากเพื่อน ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด
- ปรึกษาแพทย์เสมอหากมีความวิตกกังวลหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลิกสูบ และไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการป่วยที่รุนแรง