“กินเค็มระวังเป็น โรคไต ” ประโยคนี้หลายคนมักใช้เตือนคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม แต่โรคไตไม่ได้เข้าโจมตีแต่ผู้ที่ทานรสเค็มเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว เพราะโรคนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราเองซึ่งส่งผลให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า
ทำความรู้จักโรคไต
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าไตมีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดภาวะเลือดจางและขาดวิตามินได้ โดยโรคร้ายนี้มีอยู่หลายชนิด และที่พบได้บ่อย ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง และไตวาย
โรคไต ชื่อคุ้นหูแต่สาเหตุไม่คุ้นตา
โรคนี้อาจมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าเลี่ยงทานเค็มเท่ากับเลี่ยงโรคไต ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุต่าง ๆ อีกมากมาย โดยสาเหตุของการเกิดโรคนี้ ได้แก่
- จากพันธุกรรม โดยอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือค่อย ๆ แสดงอาการในภายหลังก็ได้
- เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบกับไต เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
- การทานอาหารรสจัดไม่ใช่เพียงแค่รสเค็ม รวมไปถึงหวานจัด หรือเผ็ดจัดด้วยเช่นกัน
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- ไม่ออกกำลังกาย
- มีความเครียด
โซเดียมสูงเสี่ยงไต
โซเดียม คือเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจจะทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต เพราะปริมาณโซเดียมที่มากจะทำให้ไตไม่สามารถขับโซเดียมออกไปได้จนเกิดการสะสมไว้ในเลือด เมื่อมีโซเดียมมากไตก็จะยิ่งทำงานหนักผลที่ตามมาคือ ในหน่วยไตจะเกิดความดันสูงขึ้นจนเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและนำพาไปสู่ภาวะไตเสื่อมในที่สุด พูดมาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงจำพวกน้ำปลา และเกลือ แต่ในความเป็นจริงแล้วโซเดียมยังอยู่ในอาหารอีกหลายรูปแบบ ได้แก่
- เครื่องปรุงรส เช่น ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มสุกี้
- อาหารแปรรูป เช่น เบคอน แฮม ผักกาดดอง ผลไม้กระป๋อง และไข่เค็ม
- อาหารกึ่งสำเร็จรูป
โรคไต คืออะไร?
โรคไต หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Kidney Diseases คือกลุ่มโรคและอาการที่เกิดจากภาวะไตเสื่อมหรือทำงานได้น้อยลง ส่งผลให้มีความผิดปกติในการกำจัดสารพิษหรือของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย รวมถึงการหลั่งฮอร์โมนหรือการควบคุมน้ำและแร่ธาตุเพื่อรักษาสมดุล
การเสื่อมของไตอาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไปจนถึงโรคเรื้อรัง (Chronic Diseases) อื่นๆ ในขณะที่การเป็นโรคไตก็นำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคกระดูกพรุน เส้นประสาทเสียหาย และภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)
หากอาการของโรคไตรุนแรงขึ้น ก็อาจจะทำให้ไตเสื่อมจนเกิดภาวะไตวาย และต้องมีการฟอกไตแทนการทำหน้าที่ของไต ซึ่งการฟอกไต (Dialysis) ก็คือกระบวนการกรองและกำจัดของเสียที่อยู่ในเลือดออกไปโดยใช้เครื่องฟอกไต มักจะใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย และแม้ว่าการฟอกไตจะไม่ช่วยรักษาโรคไต แต่ก็ช่วยยืดอายุของผู้ป่วยและรักษาระบบอื่นๆ ของร่างกายเอาไว้ได้
รู้ไหมว่าไตสำคัญ และไม่ได้มีหน้าที่แค่กรองของเสีย
ก่อนจะรู้จักโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของไต มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าไตสำคัญกับร่างกายของมนุษย์ขนาดไหน
- ไตเป็นอวัยวะขนาดเท่ากำปั้น รูปทรงคล้ายเมล็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้างอยู่บริเวณกระดูกสันหลังระดับเอวข้างละ 1 อัน
- ไตทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองของเสียในร่างกายมนุษย์ โดยจะดึงสารที่จำเป็นต่อร่างกายกลับเข้าสู่กระแสเลือด และขับของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการหรือมีมากเกินความจำเป็นออกไปกับปัสสาวะ
- ไตรับหน้าที่รักษาระดับ pH, เกลือแร่, และโพแทสเซียมในร่างกายของเรา
- ไตผลิตฮอร์โมนชื่อ Aldosterone ที่ทำหน้าที่รักษาระดับความดันโลหิต และฮอร์โมน Erythropoietin ที่กระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
- ไตทำหน้าที่เปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้ (Active Form) ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติ ไตถือเป็นอวัยวะหลักที่แพทย์จะพยายามรักษาเอาไว้ให้ได้ เพราะหากไตของเราเสื่อมลง ก็จะส่งผลให้อวัยวะอื่นๆ ทำงานผิดปกติไปตามๆ กัน เพราะฉะนั้น การที่เราจะมีสุขภาพดีได้ก็ต้องรักษาไตให้มีสุขภาพดีด้วย
โรคไต มีอะไรบ้าง?
โรคและอาการผิดปกติของไตนั้นมีมากกว่า 10 ชนิด แต่โรคที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease)
โรคไตเรื้อรังเป็นโรคไตที่พบได้บ่อยที่สุด การเป็นโรคนี้บ่งบอกว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ไตถูกทำลายและไม่สามารถกรองเลือดได้ตามปกติ โรคไตเรื้อรังมักเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน เนื่องจากเป็นโรคที่สร้างภาระให้กับไตอย่างมากจนไตเสื่อม - โรคนิ่วในไต (Kidney Stones)
เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยๆ เกิดจากปริมาณของเกลือและแร่ธาตุต่างๆ มีมากเกินกว่าที่ร่างกายจะขับออกมาทางปัสสาวะได้ จึงตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว และมักไปอุดตันตามที่ต่างๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ การมีนิ่วในไตอาจทำให้ไตบาดเจ็บและทำงานผิดปกติจนนำไปสู่ภาวะไตวายได้ - โรคเส้นเลือดฝอยที่ไตอักเสบ (Glomerulonephritis)
เกิดจากกลุ่มเส้นเลือดฝอยที่ไตอักเสบและส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติจนมีเซลล์เม็ดเลือดแดง โปรตีน และของเสียอื่นๆ ปนออกไปกับปัสสาวะ โรคเส้นเลือดฝอยที่ไตอักเสบอาจเกิดขึ้นเองจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือจากโรคหลอดเลือดอักเสบ แต่ในบางครั้งก็พบว่าเป็นอาการแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงพบในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Diseases) เช่น โรคพุ่มพวง (SLE) ได้เช่นกัน - โรคถุงน้ำในไตจากสาเหตุพันธุกรรม (Polycystic Kidney Disease)
เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีถุงน้ำจำนวนมากในไตทั้ง 2 ข้างและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไตค่อยๆ เสื่อมลง และนำไปสู่ภาวะไตวายและเสียชีวิต มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่หากพบในเด็กหรือทารกอาจมีอาการรุนแรงมากจนทำให้ไตวายตั้งแต่เด็กได้ - โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infections)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังไตได้ และโรคกรวยไตอักเสบที่เกิดการอักเสบขึ้นบนส่วนต่อระหว่างไตกับท่อไต เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ไตเสื่อมจนนำไปสู่ภาวะไตวายได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไต
- เป็นโรคเบาหวาน – ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีความเสี่ยงโรคไตมากกว่าคนอื่นๆ และจัดเป็นสาเหตุหลักของภาวะไตวายเรื้อรังในประเทศไทย โดย 30% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะพบว่ามีความผิดปกติของไตด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจจะทำให้ไตเสื่อมลงอย่างถาวร
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง – โรคความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดที่ไตเสื่อม ทำให้โปรตีนจากเลือดรั่วเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งในที่สุดจะทำให้ไตเสื่อมลงและขับของเสียได้น้อยลง และของเสียที่ค้างอยู่ในเลือดก็จะยิ่งทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นและยิ่งทำลายไตมากขึ้น
- มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคไต – โรคไตบางชนิดเป็นเพราะกรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคความผิดปกติของไต ก็จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตเช่นกัน
- อายุมากขึ้น – ยิ่งอายุมากขึ้น การทำงานของไตก็จะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากไตค่อยๆ เสื่อมลงไปตามอายุการใช้งาน
- พฤติกรรมการบริโภค เช่น การทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด หรือเผ็ดจัด การดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมถึงการรับประทานยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง
อาการของ โรคไต
เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย โดยในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณของโรคร้ายนี้เลย แต่อาการจะปรากฏออกมาในระยะท้าย ๆ ที่ไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว จนในระดับสูงสุดอาจเกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยโรคไตที่ปรากฏมีดังนี้
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นผิดปกติ มีสีผิดปกติ เป็นต้น
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- มีอาการเบื่ออาหาร
- ตัวบวมเนื่องจากมีน้ำและเกลือในร่างกายปริมาณมาก
- ปวดหลัง ปวดบั้นเอว
อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
ในระยะแรกๆ ผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคความผิดปกติของไตมาก่อน อาจจะยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคไตหรือไม่ เพราะไม่มีอาการแสดงออกที่ชัดเจน แต่หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเป็นโรคไต หรือมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดโรคได้ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้พบความผิดปกติของไตเร็วขึ้น
แต่หากผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ อยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคเกาต์ แพทย์ประจำตัวผู้ป่วยมักจะให้ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนทางไตร่วมด้วยอยู่แล้ว แต่หากมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
การวินิจฉัย โรคไต
แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเราอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคไตสูงหรือไม่ด้วยการตรวจสอบว่าไตของเรายังทำงานได้ปกติอยู่หรือเปล่า ซึ่งการทดสอบที่มักใช้บ่อยๆ มีดังนี้
- Glomerular Filtration Rate (GFR)
Glomerular Filtration Rate คือการทดสอบเพื่อหาอัตราการคัดกรองของไต หากอัตราการกรองของไตมีค่าสูง แสดงว่าไตสามารถทำงานได้ดี โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 90 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรขึ้นไป โดยในผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 – 30 ปีและมีสุขภาพแข็งแรงดีจะมีอัตราการกรองของไตอยู่ที่ประมาณ 120 –130 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรขึ้นไป - การอัลตร้าซาวนด์ (Ultrasound) หรือการทำ CT Scan (Computed Tomography Scan)
การอัลตร้าซาวนด์และการทำ CT Scan จะช่วยให้เห็นความผิดปกติของไตได้ ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินขนาดของไต ดูความแน่นของเนื้อไต รวมถึงตรวจหาเนื้องอกหรือก้อนนิ่วในไตได้ - การตรวจชิ้นเนื้อไต (Kidney Biopsy)
โดยแพทย์จะใช้เข็มชนิดพิเศษเจาะผ่านผิวหนังไปที่ไตเพื่อนำเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ ไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำให้สามารถระบุความรุนแรงของโรค และความเสื่อมของไตได้ - การตรวจปัสสาวะ (Urine Test)
การตรวจปัสสาวะจะช่วยให้ทราบปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ บ่งบอกถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคไต รวมถึงโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง - การตรวจ Creatinine ในเลือด (Blood Creatinine Test)
ครีเอทินิน (Creatinine) เป็นของเสียที่เกิดจากกล้ามเนื้อและมักจะถูกไตขับออกผ่านทางปัสสาวะ การเพิ่มขึ้นของ Creatinine ในเลือดบ่งบอกถึงการทำงานของไตที่ลดลง โดยค่า Creatinine ตามปกติจะอยู่ที่ 0.7- 1.3 mg/dL ในผู้ชาย และ 0.6- 1.1 mg/dL ในผู้หญิง
การรักษาโรคไต
- รักษาตามอาการ เช่น การรับประทานยา และควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงยาบางประเภท
- รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้
– การฟอดเลือด เพื่อทำให้เลือดสะอาดโดยใช้ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
– การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ
– การปลูกถ่ายไต โดยการนำไตจากผู้บริจาคใส่เชิงกรานของผู้รับไต
การจัดการโภชนาการอาหารในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คือการตรวจสุขภาพไตอย่างสม่ำเสมอเพื่อรู้เท่าทันโรคไตที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง
การป้องกันโรคไต
- ผู้ที่มีความเสี่ยง คือผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่ได้รับสารพิษหรือยาที่ทำลายไตควรเข้ารับการตรวจคัดกรองไตอย่างน้อยปีละครั้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัดเพื่อช่วยไม่ให้ไตทำงานหนัก โดยการเปลี่ยนวิธีจากการทอดเป็นต้มหรือนึ่งแทน และลดปริมาณเกลือ น้ำตาลในอาหารลง
- งดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ไตทำงานน้อยลง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว
- หลีกเลี่ยงการทานยาบางกลุ่ม เช่น สเตียรอยด์ ยาแก้อักเสบ ยาชุด ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทานทุกครั้ง
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทาน
ดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรงโดยเน้นการรับประทานอาหารเหล่านี้
- เนื้อสัตว์ ควรรับประทานจำพวกปลาทะเลน้ำลึกที่มีไขมันต่ำและโอเมก้า3 หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
- ไข่ขาววันละ 2-3 ฟอง
- เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า และน้ำมันมะกอกแทน
- รับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียม ผักและผลไม้ที่มีสีอ่อน เช่น แอปเปิ้ล องุ่น ชมพู่ แตงกวา เป็นต้น
- ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำสมุนไพรไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน เป็นต้น
- ใช้วิธีการย่าง ต้ม และอบแทนวิธีการทอด
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคไต
สำหรับผู้ป่วยโรคไต นอกจากการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังนี้
- อาหารที่มีโซเดียมและอาหารที่มีรสเค็มเช่นผงชูรส ผงปรุงรส และซอสต่าง ๆ
- อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ผักกาดดอง
- เนื้อสัตว์ปรุงรสหรืออาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ เบคอน
- อาหารกระป๋อง เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูปผลไม้กระป๋องปลากระป๋องเป็นต้นเพราะอาหารพวกนี้จะใส่อาหารสารกันบูดและมีปริมาณโซเดียมสูงมาก
- อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงจากไขมันอิ่มตัวของพืชและสัตว์ เช่น กะทิ ไข่แดง หมูสามชั้น
- อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมปัง รวมถึงของหวาน ขนมที่ใส่กะทิ
- เนื้อสัตว์ติดมัน