มารู้จักเก๊าท์กันเถอะ
โรคเก๊าท์ เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยประมาณ 2-4 คน ใน 1,000 คน จัดเป็นโรคที่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนใหญ่จะพบในเพศชายอายุ 30-40 ปี ขึ้นไป โดยที่ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์มากกว่าผู้หญิงถึง 10 เท่า ยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นตามไปด้วย ส่วนในผู้หญิงถ้าพบก็มักจะเป็นผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว (มักเริ่มเป็นเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป) โดยทั่วไปมักเกิดกับข้อเพียงข้อเดียว ในบางครั้งอาจเกิดกับหลายข้อได้พร้อม ๆ กันก็ได้ แต่ข้อที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือ นิ้วหัวแม่เท้า ถือเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยในประเทศไทย
เก๊าท์คืออะไร?
เก๊าท์เป็นโรคข้ออักเสบจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ในคนปกติทั่วไปถึงแม้ว่า จะได้รับสารพิวรีนมากหรือร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมาก แต่ไตของเราก็สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกมาได้ ร่างกายจึงรักษาสมดุลของกรดยูริกไว้ได้ แต่สำหรับคนที่มีความบกพร่องหรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ จึงเกิดการตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่นๆ ได้จนเกิดเป็นโรคเก๊าท์
อาการของเก๊าท์
1. ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน มีข้อบวม แดง และร้อนอย่างชัดเจน ในบางรายอาจมีไข้หรืออาการหนาวสั่นร่วมด้วย ข้อที่พบได้บ่อยคือ ข้อหัวแม่เท้า ข้อเข่า และข้อเท้า ในระยะแรกข้อจะอักเสบเพียง 3-10 วัน และอาจหายไปได้
2. ระยะที่ไม่มีอาการข้ออักเสบและระยะเป็นซ้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการปกติทุกอย่าง มักมีประวัติข้ออักเสบระยะเฉียบพลันมาก่อน ระยะเวลาตั้งแต่มีการอักเสบครั้งแรกถึงระยะเวลาต่อไปอาจแตกต่างกันในแต่ละราย หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีโอกาสข้ออักเสบซ้ำภายใน 1-2 ปี เมื่อเป็นซ้ำบ่อยๆจำนวนข้ออักเสบจะเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ระยะเวลาในแต่ละครั้งที่มีข้ออักเสบยาวนานขึ้น อาจมีอาการทางกายอื่นๆร่วมด้วยเช่น มีไข้
3. ระยะข้ออักเสบเรื้อรังจากโรคเก๊าท์ พบข้ออักเสบหลายข้อแบบเรื้อรังร่วมกับการตรวจพบก้อนตามเนื้อเยื่อต่างๆ บางครั้งอาจแตกออกมาเห็นเป็นสารสีขาวคล้ายชอล์ก ตำแหน่งที่พบได้บ่อยนอกจากนิ้วหัวแม่เท้าและข้อเท้า คือ ปุ่มปลายศอก เอ็นร้อยหวาย ปลายนิ้วและอาจพบที่ใบหูร่วมด้วย ระยะนี้จะพบข้ออักเสบหลายข้อและอาจมีไข้จากการอักเสบได้
รักษาเก๊าท์อย่างไร
โรคเก๊าท์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก ควบคู่กับการปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค ในบางรายที่ปล่อยให้โรคดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รักษา แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดแทนการใช้ยา ซึ่งเป้าหมายของการรักษาจะช่วยในการบรรเทาอาการปวดให้ลดลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดของโรคเก๊าท์ในบริเวณข้ออื่น ๆ ในอนาคต รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โครงสร้างข้อต่อผิดรูป ไตเกิดความผิดปกติ
ดูแลตัวเองเมื่อเป็นเก๊าท์
ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร เพื่อช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ และไม่ทำให้เกิดการตกตะกอนในระบบทางเดินปัสสาวะที่นำไปสู่การเกิดนิ่วในไต
- งดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำอัดลมน้ำผลไม้ น้ำหวาน
- ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หยุดนวด ทายา ประคบร้อนหรือเย็นบริเวณที่มีการอักเสบของข้อ
- แนะนำให้รักษาโรคร่วมที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ไขมัน
- รับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ไข่ปลา หอย ปลาดุก กะปิ ซุปก้อน น้ำต้มกระดูก ชะอม ยอดผัก เห็ด สาหร่าย อาหารที่ใส่ยีสต์ (ขนมปัง เบียร์) เป็นต้น
การป้องกันเก๊าท์
โรคเก๊าท์ยังไม่สามารถสรุปการป้องกันได้อย่างชัดเจน การป้องกันจึงเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นเดียวกับการปฏิบัติตนของผู้ป่วยที่เป็นโรค เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลง เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง
2 Responses