โซเดียมแฝง ถ้าไม่อยากมีโรคไต ความดันสูง เบาหวานถามหา ควรจำกัดปริมาณ 5 อาหารเหล่านี้ด่วนๆ ทราบหรือไม่ว่า ในอาหารนั้นมี โซเดียมแฝง ที่อันตรายต่อร่างกายอยู่ ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่มีรสเค็ม หรือมีโซเดียมสูง ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงเฉพาะโรคไตเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงโรคอันตรายอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ปริมาณโซเดียมที่ไม่ควรกินเกินต่อวัน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดมาตรฐานไว้ว่า ร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า เกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม เมื่อเฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร
แต่ในปัจจุบัน คนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในชีวิตประจำวัน อาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม ติดรสเค็ม หรือจากความไม่รู้ส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทนั้นๆ ซึ่งผลจากการกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ถือเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด โดยควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เน้นการกินอาหารรสธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ติดรสเค็ม เพราะหากติดเป็นนิสัยมาจนโต ทำให้แก้ไขยาก อาจส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
5 อาหาร โซเดียมแฝง ที่ควรจำกัดปริมาณการกิน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โซเดียมที่ร่างกายได้รับส่วนใหญ่มาจากเกลือ แต่ก็ยังมี 5 ประเภทอาหาร ที่มีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่นอกจากเกลือ ได้แก่
- เครื่องปรุงรสทั้งที่มีรสเค็มและไม่มีรสเค็ม เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว กะปิ ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า ซุปก้อน ผงชูรส เครื่องปรุงรส เป็นต้น
- อาหารแปรรูป ทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักผลไม้ดอง มักมีโซเดียมสูงจากเกลือ และโซเดียมแฝงจากวัตถุเจือปนอาหาร
- ขนมที่มีการเติมผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง แป้งสำเร็จรูป เป็นต้น เนื่องจากผงฟูมีโซเดียมแฝงเป็นองค์ประกอบ
- เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้ มักมีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักจะมีการเติมเกลือปรุงรสชาติ และโซเดียมแฝง จากวัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะสารกันบูด
- อาหารธรรมชาติทุกชนิด มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ โดยเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง ที่ยังไม่แปรรูป แต่อย่างไรก็ตาม อาหารธรรมชาติถือว่ามีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งทั้งหมด และมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการได้รับอีกด้วย
วิธีลดโซเดียมในอาหารที่เรากินทุกวัน
การลดการบริโภคโซเดียมเกินความจำเป็น เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เช่น
- ลดหวาน มัน เค็ม เลี่ยงอาหารรสจัด
- ลดการปรุงอาหารด้วยเครื่องปรุงรสต่างๆ เท่าที่จำเป็น ไม่เติมผงชูรส ผงปรุงรส เลี่ยง หรืองดการปรุงรสชาติต่างๆ เพิ่ม
- ควรเลือกกินอาหารธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และขนมเบเกอรี่
- อ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียม รวมถึงโซเดียมแฝงที่ปรากฏบนภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อทุกครั้ง หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)
การลดกินเค็มเป็นการยืดอายุการทำงานของไต เพราะไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป และช่วยป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้