
ร้อนใน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดมากกว่ากลุ่มอื่นคือ ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงใกล้หรือกำลังจะถึงรอบประจำเดือน วัยรุ่น ผู้ที่พักผ่อนน้อย รวมถึงผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นร้อนในบ่อยๆ
แผลร้อนใน มีลักษณะเป็นจุดวงกลมบวมแดงหรือเป็นจุดขาวในบริเวณช่องปากส่วนต่างๆ สามารถพบได้บ่อยบริเวณข้างลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปากด้านใน ทำให้รู้สึกแสบร้อนแต่สามารถหายได้เองใน 2 สัปดาห์
ร้อนใน (Mouth Ulcers, Canker Sores) คืออะไร?
อาการร้อนใน หรือ แผลในปาก (Mouth Ulcers, Canker Sores) เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยจะมีรอยแผลเล็กๆ เกิดขึ้นในช่องปากบริเวณที่มีเยื่อบุอ่อนและบริเวณฐานเหงือก มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือน วัยรุ่น ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการร้อนในบ่อยๆ ปกติแล้วอาการร้อนในหรือแผลในปากสามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์
สาเหตุของอาการร้อนใน
- เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในช่องปาก
- เกิดจากพันธุกรรมบางส่วน
- เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือกลุ่มโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเองที่หลายคนเรียกว่า โรคภูมิแพ้ตัวเอง
- เกิดจากการขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 วิตามินซี ธาตุเหล็ก
- เกิดจากความเครียดสะสม และนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในช่วงก่อนหรือช่วงมีประจำเดือน
- เกิดจากเยื่อบุในช่องปากโดนเสียดสี โดนของแข็ง เช่น แปรงสีฟัน ฟันปลอม เหล็กจัดฟัน
- เกิดจากการใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของโซเดียมรอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) ทำให้เป็นแผลในปาก
- เกิดจากการทานอาหารเผ็ดร้อน หรืออาหารมันและอาหารทอดมากเกินไป
- เกิดจากกรดต่างๆ ในอาหาร เช่น เสาวรส สตรอว์เบอร์รี มะนาว
- เกิดจากการกินของร้อนเกินไป จนเกิดแผลพุพอง
- เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น เผลอกัดกระพุ้งแก้มระหว่างเคี้ยวอาการ โทรศัพท์มือถือหล่นใส่ปาก แก้วน้ำกระแทก
- เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
- เกิดจากการสูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟ
นอกจากนี้อาการร้อนในยังเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ อีก อย่างโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease) โรคมะเร็งช่องปาก (Mouth Cancer) โรคไลเคนแพลนัส (Lichen Planus) โรคเบเช็ต (Behcet Disease)

อาการร้อนในเป็นอย่างไร?
จะเกิดรอยแผลหรือการปริแตกของเยื่อเมือกในช่องปาก มีลักษณะเป็นจุดบวมแดง สามารถเกิดได้เกือบทุกจุดในช่องปาก แต่ที่พบบ่อยเช่น ข้างลิ้น กระพุ่งแกม ริมฝีปากด้านใน ต่อมทอนซิล ทำให้รู้สึกแสบหรือเจ็บบริเวณที่มีแผลร้อนใน บางครั้งจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบวม
ชนิดของแผลร้อนใน
- แผลร้อนในขนาดเล็ก (Minor Mouth Ulcer) มีขนาดประมาณ 5 มม. หรือไม่เกิน 1 ซม. ลักษณะเป็นจุดสีขาวด้านใน สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน เป็นร้อนในชนิดที่พบได้บ่อย
- แผลร้อนในขนาดใหญ่ (Major Mouth Ulcer) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 มม. แผลมีความลึกมากกว่าแบบแรกจึงสร้างความเจ็บได้มากกว่า และบางกรณีเมื่อหายแล้วอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ด้วย ใช้เวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์จึงจะหายไป
- แผลร้อนในชนิดคล้ายเริม (Herpetiform Ulcer) จะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ขึ้นพร้อมกันเป็นกลุ่มประมาณ 10 จุดขึ้นไป มักจะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ สามารถหายได้ใน 2-3 สัปดาห์

อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
อาการร้อนในสามารถหายได้เอง แต่หากเกิน 3 สัปดาห์หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด
- เกิดแผลร้อนในขนาดใหญ่ผิดปกติ
- เกิดแผลร้อนในหลายจุด และลามมากขึ้นเรื่อยๆ
- มีอาการร้อนในเป็นระยะเวลานานแล้วยังไม่หายเกินกว่า 3 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน ลดความเครียด
- เกิดอาการเจ็บหรือแสบจากแผล และใช้ยาแก้ปวดแล้วแต่ไม่หาย
- เกิดผลกระทบต่อการกินอาหารหรือดื่มน้ำ
- หลังจากเกิดแผลร้อนในแล้วมีไข้สูงและท้องเสีย
การรักษาอาการร้อนใน
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสร้างภูมิคุ้นกันให้กับร่างกาย
- รับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบห้าหมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารและวิตามินที่ครบถ้วน
- หลีกเลี่ยงสภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด
- ควรงดการทานอาหารทอด อาหารมัน และอาหารเผ็ดร้อน
- หากไปพบแพทย์เมื่อมีอาการร้อนในเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ จะได้รับการรักษาโดยให้ยาเพื่อต่อต้านแบคทีเรียและลดการอักเสบลง เช่น การใช้น้ำยาบ้วนปากลดการอักเสบ และให้ยาป้ายแผล

รักษาอาการร้อนในด้วยตัวเองอย่างไร?
การรักษาแผลร้อนในในปาก สามารถทำเองได้ที่บ้านง่ายๆ ดังนี้
- ใช้น้ำผสมเกลือเพื่อกลั้วปากเช้า-เย็น
- ดื่มน้ำมากๆ ระหว่างวัน
- ทายาในบริเวณที่เป็นแผล เช่น Triamcinolone (ไตรแอมซิโนโลน) เป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
- ใช้แผ่นแปะแก้ร้อนใน ช่วยให้แผลการสัมผัสน้ำลาย ฟัน หรืออาหารน้อยลง และมีตัวยาที่ช่วยรักษาแผล
- งดอาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวไปก่อน รอให้แผลหายดีจึงจะทานได้
- พยายามฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังอย่างพอเหมาะ และลดความเครียด
แผลร้อนในบางกรณีที่รักษาเองแล้วไม่หายและมีอาการลุกลาม โดยมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือจำนวนมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณของของบางอย่าง เช่น มะเร็งในช่องปาก โรคโครห์น โรคแพ้กลูเตน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอชไอวี ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด