ยาแก้ปวด เวลาเกิดอาการไข้ ปวดหัว ปวดตามเนื้อตัวตั้งแต่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ลามไปจนถึงกระดูก คุณมักเลือกใช้ยาแก้ปวดตัวไหนกันบ้าง มีข้อสังเกตลักษณะ อาการปวดที่แตกต่างกัน ที่จะช่วยให้คุณเลือกยาให้ถูกขนาน และกินได้ถูกต้อง เพื่อแก้ต้นตอ ของอาการปวดได้อย่างถูกจุด
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
ยาพาราเซตามอล ออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจของผู้ป่วย ส่วนใหญ่เวลาปวดหัว มีไข้ และครั่นเนื้อครั่นตัว
ข้อควรระวัง
- ห้ามกินยากัน ไว้ก่อนจะมีไข้
- ห้ามดื่มเครื่อง ดื่มแอลกอฮอลร่วมด้วย
- ห้ามใช้ยาเกินขนาด ผู้ใหญ่ควรกินเว้นห่าง กันทุกๆ 4 ชม. ในปริมาณ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน
- ห้ามใช้ต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานานเกิน 5 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
ข้อควรระวัง
- หากมีภาวะการทำงาน ของตับผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
- ห้ามใช้ยา กับคนที่แพ้ยา พาราเซตามอลเด็ดขาด อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
- หากใช้ยาพาราเซตามอล เกินขนาดจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีอาการ แสดงของภาวะตับวาย เจาะเลือดพบว่ามีเอมไซม์ ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ ซึม สับสน เสียชีวิตได้
ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant)
ยากลุ่มนี้เป็นยา ที่ต้องจ่ายโดยแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น ออกฤทธิ์ช่วยลดการตึงตัว หดเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก หรือตามภาษาชาวบ้านเรียกรวมๆ ว่าอาการเส้นตึง เนื่องจากเวลาให้หมอนวด แผนโบราณจับเส้นกดจุด จะสัมผัสได้ว่ากล้ามเนื้อแข็งตึงและหดเกร็ง นั่นเอง
มักพบบ่อยในคนวัยทำงาน ที่ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก ใช้งานผิดท่า หรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ จึงมีอาการปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง และรู้สึกช้ำไปหมดทั้งตัว จนต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวด สามารถช่วยลดปวดในระดับที่มีความรุนแรง น้อยถึงปานกลางที่เกิดจากการตึงตัว ของกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ไม่สามารถลดปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้ โดยมากมักใช้ในอาการปวดกล้ามเนื้อ ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เมื่ออาการดีขึ้น แล้วควรหยุดใช้ยาทันที และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ
ข้อควรระวัง
- หลังกินยา ห้ามทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง ควบคุมเครื่องจักร หรือขับขี่ยานพาหนะ เพราะยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงและอาจเผลอหลับใน ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการ ทำงานได้
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา
- มึนงงและง่วงซึม
- ปากและคอแห้ง
- ท้องผูก
ยาแก้อักเสบ (NSAID, Non-steroidal anti inflammatory)
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในระดับปานกลางถึงรุนแรง ออกฤทธิ์ลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย หลังเกิดอุบัติเหตุมีแผลฟกช้ำ ปวดบวม หรืออาการเส้นเอ็นอักเสบ ข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม และยังสามารถใช้ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ และอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคกระเพาะ หรือผู้มีแผลในระบบทางเดินอาหาร
- ห้ามกิน ‘ยาฆ่าเชื้อ’ (Antibiotic) แทน ‘ยาแก้อักเสบ’ เนื่องจากไม่ใช่ตัวยาเดียวกัน แต่คนมักสับสนจากชื่อ ที่จริงแล้วยาฆ่าเชื้อเป็น ‘ยาปฏิชีวนะ’ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถยับยั้งอาการอักเสบของเอ็น ข้อต่อ กล้ามเนื้อได้ และยาฆ่าเชื้อไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเพราะจะเกิดอาการดื้อยาได้ กลับกันก็ไม่ควรกินยาแก้อักเสบแทนยาฆ่าเชื้อเช่นกัน
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ อาจใช้ได้ในขนาดต่ำและระยะเวลาสั้นๆ โดยอยู่ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไต
ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา
- มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูอื้อ น้ำมูกไหล เจ็บคอ มักพบมากในผู้ที่กินยาเกินขนาด
- เกิดผื่นคัน ผิวหนังลอก ใบหน้าและหนังตาบวมเป่งหากแพ้ยา
- บวมน้ำ หรือน้ำหนักขึ้น
- กัดกระเพาะ เกิดแผลและเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
- ปวดท้องเนื่องจากเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระสีดำ
- ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น เกิดภาวะตับอักเสบ
- การใช้ยากลุ่มนี้แม้ว่าในระยะสั้นก็อาจจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และมีปัญหากับไต ดังนั้นคงต้องติดตามความดันและการทำงานของไต
ขอแนะนำว่า ถ้าคุณรู้ตัวว่าแพ้ยาชนิดไหน ควรเขียนชื่อยาที่แพ้พกใส่กระเป๋าสตางค์ติดตัวไว้ตลอด สอดในซองเดียวกับบัตรประชาชนได้ยิ่งดี เผื่อเหตุฉุกเฉินกู้ภัยหรือพยาบาลจะได้ทราบข้อมูลสำคัญนี้ก่อนส่งตัวรักษา ถ้ายังมีสติจะต้องแจ้งพยาบาล และย้ำกับแพทย์ก่อนสั่งยาทุกครั้ง เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของคุณได้
หากนำยาที่มีอยู่เดิมมาใช้ทุเลาอาการเอง ก็อย่าลืมตรวจสอบให้ดีว่ายาหมดอายุแล้วหรือยังทุกครั้งด้วย ควรกินยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับขนาดเองสุ่มสี่สุ่มห้า เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ป่วย