ไซบูทรามีน

อย. เตือน อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อวดอ้างสรรพคุณลดความอ้วนทางสื่อต่างๆ เสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูง ซึ่งมีสาร “ไซบูทรามีน” อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แนะนำผู้มีน้ำหนักเกินควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายแทนการใช้ยา

นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะว่ามีผู้ได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนัก และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนแล้วซื้อยามารับประทานเองตามร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จึงขอเตือนมายังผู้ที่ต้องการลดความอ้วน อย่าหลงเชื่อโฆษณาจำหน่ายยาลดความอ้วนผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต และทาง Social media หรือไปหาซื้อยามารับประทานเอง เพราะเสี่ยงต่อผลข้างเคียง โดยยาลดความอ้วนส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ลดความอยากอาหารและกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ซึ่งทำให้น้ำหนักลดลงขณะรับประทานยา แต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อหยุดยา หรือที่เรียกว่า Yo-Yo Effect

นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย. มักตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่สาร “ไซบูทรามีน” ซึ่งเป็นสารอันตรายและมีผลข้างเคียงร้ายแรง คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ตาพร่า และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 

ทำความรู้จักกับ ไซบูทรามีน คืออะไร

ไซบูทรามีน เป็นมีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดการทำลายสารสื่อประสาทอย่าง ซิโรโทนิน, นอร์อีพิเนฟริน และโดปามีน ทำให้สารเหล่านี้ทำงานนานขึ้น จึงส่งผลทำให้มีความรู้สึกไม่หิวหรืออิ่มเร็วขึ้น

แม้ว่าจริงๆ แล้ว ไซบูทรามีน จะสามารถใช้เพื่อรักษาโรคอ้วน หรือรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของการลดน้ำหนัก หรือลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกายได้จริง แต่เนื่องจากไซบูทรามีนมีผลข้างเคียงที่อันตรายต่อร่างกาย หากนำไปใช้ หรือทานอย่างไม่ถูกวิธี อย่างที่ผู้ผลิตยาลดความอ้วนนำไปใช้เป็นส่วนผสมมากมายโดยไม่ผ่านการดูแลจากแพทย์ จึงถูกยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 โดยทาง อย. ยืนยันว่า สารไซบูทรามีนไม่สามารถใส่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเป็นยา และได้ยกระดับไซบูทรามีนขึ้นเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใด ผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี และ ปรับถึง 2 ล้านบาท

ดังนั้น ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง การใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วยในการสอดส่องดูแลบุตรหลานที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักตัวมากเกินไป และ มีแนวโน้มในการใช้ยาลดความอ้วนให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยา

ขอเตือนว่าการซื้อยาต้องซื้อจากร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาต และมีเภสัชกรให้คำแนะนำในการใช้ยา ไม่สามารถซื้อหรือขายยาทาง Social media ได้ เพราะผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการเกิดผลร้ายต่อผู้บริโภค หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000  หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด

อันตรายของ ไซบูทรามีน ที่คุณควรรู้

ไซบูทรามีน

ไซบูทรามีนจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของสารเคมีภายในร่างกาย ส่งผลให้ไม่อยากอาหาร และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว เวียนหัว ปากแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ อยากอาหาร เวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ไซบูทรามีนเท่านั้น

ทั้งนี้ การใช้ไซบูทรามีนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หากมีโรคประจำตัว และกำลังใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะโรคและยาต่อไปนี้

นอกจากนี้ ยาชนิดนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคจิต ภาวะอารมณ์ดีกว่าปกติ (Mania) ภาวะซึมเศร้า และเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น หากพบสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งในข้างต้น หรืออาการอื่นหลังจากใช้อาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ไซบูทรามีนเป็นยาที่มีฤทธิ์รุนแรง ปัจจุบันยานี้เป็นยาผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศไทย แต่มักมีการลักลอบนำไปผสมในอาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก หรือยาลดความอ้วน แล้วนำไปโฆษณาจนเกินความเป็นจริง จึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้น หากใครกำลังใช้อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ และเรียนรู้ถึงวิธีสังเกตอาการที่เกิดจากฤทธิ์ยาชนิดนี้ไว้ เพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ กำหนดให้ไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท – 2 ล้านบาท ผู้ใดขาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท – 2 ล้านบาท ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท – 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *