Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง ตีบ แตก ตัน ถือเป็นโรคร้ายในลำดับต้นๆ ที่อันตรายถึงชีวิตประชาชนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน Stroke เกิดจากการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากเกิดการอุดตัน หรือ แตกของเส้นเลือดที่เป็นทางเดินของเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ แต่รวมถึงกลุ่มคนวัยทำงาน หรือวัยรุ่นก็อาจมีความเสี่ยงเกิด Stroke ได้ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 18-50 ปี มาเช็คสัญญาณเตือนเพื่อป้องกันและสามารถเข้ารักษาอาการได้ทัน ดังนี้
สัญญาณเตือนอาการ Stroke โรคหลอดเลือดสมอง
การสังเกตอาการ BEFAST ของตนเองหรือคนใกล้ชิด เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ได้แก่
- B คือ Balance เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุน ฉับพลัน
- E คือ Eyes ตามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนฉับพลัน
- F คือ Face Dropping ยิ้มแล้วมุมปากตก
- A คือ Arm Weakness ยกมือแล้วกำไม่ได้ หรือแขนขาไม่มีแรง
- S คือ Speech Difficulty พูดไม่ชัด พูดไม่ออก
- T คือ Time to call ควรรีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่และนำส่งโรงพยาบาล
ปัจจัยเสี่ยงของอาการ Stroke โรคหลอดเลือดสมอง
- ความดันโลหิต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140-80 มิลลิเมตรปรอท (ค่าปกติ 140-80 มิลลิเมตรปรอท) จะทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือเกิดการแตกหรือตีบของหลอดเลือดสมอง
- โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็ง ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน เกิดเป็นอัมพาต (หากตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้ามากกว่า 110 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มากกว่า 2 ครั้ง อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน)
- ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เป็นอัมพาตในเวลาต่อมา
- สูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากยิ่งเสี่ยงมาก เนื่องจากสารในบุหรี่หลายตัวเป็นตัวเร่งให้เกิดการระคายเคืองของผนังหลอดเลือดจนเกิดการตีบตันขึ้นได้
- ขาดการออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- ความเครียด
รู้ก่อนสาย เข้าตรวจวินิจฉัยอาการ Stroke โรคหลอดเลือดสมอง
การตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบโอกาสเสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือด สามารถทำได้หลายวิธี นอกจากการตรวจเม็ดเลือดแดง เพื่อดูความเข้มข้นของเลือด การตรวจการอักเสบของหลอดเลือด การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดแล้ว อาจทำการตรวจเอกซเรย์สมองเพิ่มเติม ในรายที่ผลการตรวจเลือดมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองขาดเลือด ได้แก่
- การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT) เป็นการตรวจดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองว่ามีการแตกหรือตีบตันของหลอดเลือดในสมองหรือไม่
- การตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์สมองด้วยสนามแม่เหล็กที่สามารถให้รายละเอียดของสมองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจพบการตีบตันของหลอดเลือดสมองได้ตั้งแต่ในระยะแรก และยังสามารถตรวจความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เป็นต้น
- การทำอัลตราซาวนด์หลอดเลือดคอ (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อตรวจภาวะความอุดตันของหลอดเลือดบริเวณคอ การไหลเวียนของเลือดที่หลอดเลือดคอ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่สำคัญที่ไปเลี้ยงสมอง โดยใช้คลื่นความถี่สูง เพื่อตรวจหาขนาดและความหนาของผนังหลอดเลือด รวมทั้งการหมุนเวียนของหลอดเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง
เตรียมความพร้อมด้วย Magic Number กับการรักษา Stroke โรคหลอดเลือดสมอง
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ Magic Number 4.5 หมายถึง ถ้ามาถึงโรงพยาบาลภายในช่วงเวลา 4.5 ชม. นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ แพทย์จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือ rtPA ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งในคนไข้รายที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมอง จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน แต่สำหรับรายที่หากมาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และวินิจฉัยว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยา rtPA อาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการรักษาโดยใส่สายสวนหลอดเลือดสมองเข้าช่วย โดยแพทย์จะพิจารณาว่าจะใช้วิธีการดูด หรือนำลวด หรือตะแกรงเข้าไปเกี่ยวลิ่มเลือดที่อุดตัน ฉะนั้นจึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้
หากผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดต้องทำด้วยความระมัดระวังโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพื่อวางแผนการรักษาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ป่วยมากที่สุด นอกจากการให้ยาละลายลิ่มเลือด (fibrinolytic agents or rt-PA) การทำหัตถการใส่สายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือดสมอง (endovascular thrombectomy) ยังมีการใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อสแกนเนื้อสมอง จะสามารถเห็นความเสียหายได้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ แพทย์จะใช้เครื่อง Bi-Plane DSA (ไบเพลน ดีเอสเอ) เครื่องตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด ช่วยในการดึงลิ่มเลือดอุดตัน แบบ Minimally Invasive Procedure โดยการใส่สายสวนเพื่อไปเปิดหลอดเลือดสมอง (ไม่ต้องเปิดกะโหลกศีรษะ) แต่จะมีแผลเล็กที่ขาหนีบตรงบริเวณที่ใส่สายสวน และเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละราย
One Response