วันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับมดมาแบ่งปัน มด เป็นแมลงประเภทหนึ่ง ในประเทศเขตร้อนคาดคะเนว่า มีมดอยู่ประมาณ 10,000 ชนิด แต่ที่พบแล้วมีประมาณ 8,800 ชนิด สำหรับประเทศไทยคาดว่า มีมดประมาณ 800 – 1,000 ชนิด ที่รู้จักกันมีไม่กี่ชนิด เช่น มดคันไฟ มดแดง มดดำ มดตะนอย ส่วนใหญ่เป็น มด ที่พบในบ้าน และส่วนที่เหลือเป็น มด อยู่ในป่าต่างๆ
มด เป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ บางชนิดมีรังมหึมาอยู่ร่วมกันถึง 22 ล้านตัว อยู่กันอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งหรือเกี่ยงงานกัน โดยจะสื่อสารกันโดยใช้อวัยวะ ที่เรียกว่า หนวด สัมผัสกันและใช้สารเคมีที่ปล่อยออกมา หรือใช้เสียงสื่อสารกันได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่า มดบางชนิด เมื่อไปพบแหล่งอาหารก็จะปล่อยสารเคมีชนิดหนึ่งออกมาจากต่อมภายนอก (Exocrine gland) ที่เรียกว่า ต่อมดูเฟอร์ (Dufoue’s gland) สารเคมีชนิดนี้ เรียกว่า ฟีโรโมน, มด จะปล่อยฟีโรโมนขณะเดินไปพบอาหาร และ ฟีโรโมนนี้ จะระเหยได้ทำให้ปริมาณของฟีโรโมนจะจางลงไปเรื่อยๆ ฟีโรโมนของมดบางชนิด จะจางหายไปในเวลาไม่เกิน 100 วินาที ซึ่งการระเหยของสารเคมีนี้ มีประโยชน์ต่อการสื่อสารของมด คือ ถ้าแหล่งอาหารเก่าหมด เจอแหล่งอาหารใหม่ มดจะสามารถติดตาม กลิ่นใหม่ไปยังแหล่งอาหารได้อย่างถูกต้อง ไม่สับสนกับกลิ่นเดิม นอกจากนี้ยังพบว่า มดชอบเดินตามรอยฟีโรโมนที่มีกลิ่นแรงมากกว่า กลิ่นที่จาง
ส่วนเอวมด อาจมี 1 หรือ 2 ปล้อง, ส่วนเอวแท้จริงคือ ท้องปล้องที่ 2 หรือ ปล้องที่ 3 จะมีลักษณะเป็นตุ่ม หรือ เป็นท่อ, มดมีปาก แบบกัดกิน, หนวดแบบ หักข้อศอก, ตารวม มีขนาดใหญ่ถึงขนาดเล็กมากหรือไม่มี, ปลายส่วนท้อง อาจมีเหล็กในหรือไม่มี
ภายในครอบครัวของมด
ประกอบด้วย แม่รัง (queen) และลูกมด ประกอบด้วย มดงาน (worker) ซึ่งเป็นเพศเมีย แต่เป็นหมัน บางช่วงอาจพบ มดตัวผู้ (male) มีปีก และ มดเพศเมีย (female) มีปีก มดเหล่านี้ ทำหน้าที่สืบพันธุ์ สร้างครอบครัวใหม่ และภายในครอบครัวหนึ่งของมด จะมีจำนวน ประชากรที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยตัวไปจนถึงเป็นล้านๆตัว ขึ้นอยู่กับชนิดและอายุของแม่รัง
- แม่รัง จะมีหน้าที่ วางไข่
- มดงาน จะมีหน้าที่ ดูแลไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ ทำความสะอาด และ ซ่อมแซมรัง หาอาหาร
- การสร้างครอบครัวของมด เริ่มต้นโดย มดตัวผู้ออกจากรังแล้วปล่อยสารเคมี เรียกมดตัวเมียมีปีกอีกรังหนึ่ง เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์, หลังจาก ผสมพันธุ์แล้ว ตัวผู้จะตายในเวลาต่อมา ส่วนตัวเมียจะหาที่สร้างรังแล้วสลัดปีกทิ้ง ตรงจุดนี้จะเริ่มเรียกว่า แม่รัง แล้วรีบ วางไข่รุ่นที่ 1 ทันที, ไข่รุ่นนี้จะฟักเป็น มดงานทั้งหมด เพื่อจะช่วยกันสร้างรัง หาอาหาร จากนั้นก็วาง ไข่รุ่นต่อๆมา จนกระทั่งมี มดงาน เป็นจำนวน พอเพียง แล้วจึงเริ่มผลิตมดตัวผู้และตัวเมียมีปีก เป็นแบบนี้เรื่อยไป
มด เป็นแมลงที่มีถิ่นอาศัยในหลายลักษณะ คือ อยู่ใต้ดิน ตามพื้นดิน ใต้ใบไม้ ใต้ก้อนหิน ใต้ขอนไม้ ในขอนไม้ผุ ตามลำต้นต้นไม้ หรือ ตามเรือนยอด รวมไปถึงตามอาคารบ้านเรือน โดยทั่วไป มดสร้างรัง ได้ 2 แบบ คือ รังแบบอย่างง่าย และ รังแบบซับซ้อน
ส่วนใหญ่ มดสร้างรังแบบซับซ้อน ซึ่งภายในรังจะมีการแบ่งออกเป็นห้องๆ จะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ ชนิดและขนาด ประชากรมด ไม่เคลื่อนย้ายรัง เช่น รังมดคันไฟ รังมดแดง เป็นต้น
ส่วนมดสร้างรังแบบอย่างง่าย นั้น จะมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการแบ่งเป็นห้องๆ ส่วนมากอาศัย ใต้ใบไม้ หรือ โพรงตาม พื้นดิน รวมถึงรอยแตกตามผนัง หรือ สวนอื่นๆ ของอาคารบ้านเรือน
มด
- เป็นแมลง ที่กินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงชนิดต่างๆ ไส้เดือน ตะขาบ กิ้งกือ รวมไปถึงสัตว์อื่นๆ เช่น กบ เขียด ลูกนก งู เป็นต้น
- บางชนิดอาจกิน เมล็ดพืช หรือ เชื้อรา นอกจากนี้ มด ยังกินน้ำตาลที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ต่อมที่ใบ ดอก หรือ ผล หรือ จากแมลงบางชนิด ที่สามารถขับถ่ายของเหลวที่มีน้ำตาล เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง หนอนผีเสื้อกลางวันบางชนิด เป็นต้น บางคนชอบเรียกว่า มดเลี้ยงเพลี้ย
- น้ำตาล ถือเป็นแหล่งพลังงานสำหรับมดงานเป็นหลัก
- การให้อาหารแก่กันของมด มีลักษณะคล้าย มดจูบกัน (kissing) โดยมดตัวที่มีอาหารจะสำรอกอาหารออกมา แล้วมดตัวที่ต้องการ อาหารจะยื่นปากเข้าไปประกบเพื่อรับอาหาร
การสื่อสารของมด จะมีการติดต่อสื่อสารโดยทั่วไป 2 แบบ คือ
- การใช้สารเคมี ที่เรียกว่า ฟีโรโมน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเตือนภัย การจับคู่ผสมพันธุ์ การหาอาหาร
- การใช้หนวด จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การดมกลิ่น การขออาหาร หนวดของมด จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เกิดเป็น ภาษาหนวดมด ขึ้นมา
ลักษณะของมด
มดคันไฟ
- มีลักษณะ สีเหลืองแดง มีขนที่หัว และ ตัว, หนวดมี 10 ปล้อง, อกแคบ เห็นชัดเจน มี 2ปุ่ม, ท้องรูปไข่ มีลายขวางสีน้ำตาล มีเหล็กใน ทำรังอยู่ใต้ดินที่ร่วนซุย
- โดยดินทรายรังหนึ่งๆ มีรูทางเข้าออกเล็กๆ บนพื้นดินได้หลายรู
- กินแมลงและซากสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร
- ใช้เหล็กใน ต่อย, ผู้ถูกต่อย จะรู้สึกเจ็บแสบคล้ายถูกไฟลวก จึงเรียกว่า มดคันไฟ หลังจากถูกต่อยจะมีอาการบวมแดงขยายกว้างขึ้น และจุดที่ถูกต่อยจะใสคล้ายถูกไฟลวกและจะมีอาการคันมาก เมื่อเกาผิวหนังจะบวมแดงแผ่กว้างขึ้น
มดดำ
- มีลักษณะ สีน้ำตาลเข้ม บางส่วนสีดำ ขนสีน้ำตาลเหลืองปกคลุมอยู่ทั่วไป, หนวดมี 12ปล้อง ลักษณะยาว เห็นได้ชัด, อกแต่ละปล้อง มีเส้นแบ่งชัดเจน, ขายาวมาก มี 1 ปุ่ม เป็นรูปไข่นูนเล็กน้อย, ท้องรูปไข่
- พบเห็นทั่วไปทั้งในที่อยู่อาศัยและภายนอกบ้าน
- ออกหากินไกลออกไปจากรัง ดังนั้นจึงยากที่จะควบคุมมดชนิดนี้ทั้งรัง
- เป็นมดที่เคลื่อนที่ได้เร็วมากโดยไม่ติดตามฟีโรโมนของมดตัวอื่นๆ
- พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก บางครั้งอาจจะพบเห็นมดชนิดนี้ ขนย้ายไข่ มดชนิดนี้จะไม่ทำอันตรายคน แม้ถูกรบกวน มดดำ เป็นมดที่ ทำให้เกิดความรำคาญมากกว่าอันตราย
มดแดง
- มีลักษณะ สีแดงเข้ม หัวและส่วนอกมีขนเส้นเล็กๆ, หนวดมี 12 ปล้อง, อกยาวโค้งคอดคล้าย อาน กลม, ขาเรียวยาว
- ทำรังบนต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นมะม่วง ชมพู่ โดยใช้ใบเหล่านี้ ประกอบเป็นรัง โดยตัวอ่อนจะปล่อยสารเหนียวออกมาเชื่อมใบไม้ให้ ประกบกัน เมื่อพบเหยื่อจะทำร้ายเหยื่อ โดยการกัดและฉีดสารพิษออกทางปลายท้อง เมื่อเหยื่อได้รับบาดเจ็บจะช่วยกันลากกลับรัง
- เมื่อถูกรบกวน จะทำอันตรายคนโดยการกัด ผู้ถูกกัดจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ต่อมาจะเกิดอาการบวมคัน
มดตะนอย
- มีลักษณะ สีดำปนน้ำตาลเหลือง มีขนกระจายบางๆ ไม่เป็นระเบียบ, หนวด12 ปล้อง, อกยาว กว้าง เล็ก แบน รูปไข่นูน, ท้องรูปไข่เล็ก ปลายแหลมโค้ง, มีเหล็กในที่ปลาย
- ทำรังอยู่ในต้นไม้ใหญ่ที่ตายแล้ว เช่น ต้นก้ามปู ทำให้ต้นไม้เป็นโพรงอยู่ภายใน
- หากินบนต้นไม้และพื้นดินใกล้เคียง เป็นพวกกินเนื้อเป็นอาหาร
- จะต่อยโดยใช้เหล็กใน ผู้ถูกต่อยจะปวดคล้ายถูก ผึ้งต่อยเหล็กใน จะทำให้เกิดความเจ็บปวดและอาการบวม ต่อมาจะคันมาก