ผักบุ้ง

ผักบุ้ง พืชคู่ครัวไทยที่นิยมนำมาปรุงอาหารทั้งผัด ต้ม ยำ หรือแกง ทั้งยังเชื่อกันว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงและรักษาปัญหาสุขภาพหลายประการ เรียกได้ว่าเป็นพืชผักหารับประทานง่ายอีกชนิดหนึ่งที่มีการอ้างสรรพคุณทางยาอย่างแพร่หลาย

ผักบุ้งเป็นผักใบเขียวที่มากด้วยคุณค่าสารอาหาร อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ โปรตีน เส้นใยอาหาร แคโรทีน และฟลาโวนอยด์ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากรับประทานเป็นอาหาร ผู้คนนิยมนำผักบุ้งมาใช้เป็นยาขับลม บรรเทาอาการอักเสบ ลดไข้ แก้โรคดีซ่าน รักษาหลอดลมอักเสบ รวมถึงโรคเกี่ยวกับตับและน้ำดี โดยสรรพคุณทางยาของผักบุ้งปรากฏผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในแง่มุมดังต่อไปนี้

ขับพิษ การได้รับสารเคมีหรือสารปนเปื้อนอาจทำให้เกิดพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งมักพบสารพิษในอาหารและยาบางชนิด เช่น เห็ดพิษ น้ำดื่มที่ปนเปื้อน อาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ หรือการรับประทานยารักษาโรคเกินปริมาณที่กำหนด ผักบุ้งเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่หลายคนเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยแก้พิษจากสารเคมีหรือสารปนเปื้อนต่าง ๆ การศึกษาในห้องทดลองงานหนึ่งกล่าวสนับสนุนประโยชน์ข้อนี้ เนื่องจากค้นพบว่าสารสกัดจากใบผักบุ้งมีฤทธิ์ยับยั้งผลข้างเคียงของยาดอกโซรูบิซิน (Doxorubixin) ที่ก่อให้เกิดพิษต่อตับ โดยช่วยป้องกันเนื้อเยื่อตับของหนูทดลองถูกทำลาย

นอกจากนี้ ผักบุ้งอาจมีสรรพคุณป้องกันอันตรายจากสารพิษต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายด้วย ดังปรากฏในผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสารโพลีฟีนอลที่สกัดจากผักบุ้งมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งฤทธิ์ของยาฆ่าแมลงที่หนูกินเข้าไป ส่งผลให้เนื้อเยื่อในร่างกายของหนูทดลองถูกทำลายน้อยลง ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าผักบุ้งช่วยป้องกันเซลล์ตับของหนูทดลองจากพิษตะกั่วได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงานวิจัยในสัตว์เหล่านี้ไม่อาจนำมาใช้ยืนยันว่าผักบุ้งจะช่วยถอนพิษในคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผักบุ้งเป็นอาหารที่อาจปนเปื้อนสารอันตรายได้เช่นกัน โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าผักบุ้งมีสารเคมีอย่างปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมปนในปริมาณสูง ผู้บริโภคจึงควรเลือกรับประทานผักบุ้งจากแหล่งเพาะปลูกที่สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนดังกล่าว

ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ที่กลืนหรือสูดดมสารเคมีเข้าไป หรือมีอาการชัก หายใจไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียนหลังได้รับสารปนเปื้อน ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยวิธีใดก็ตาม รวมทั้งห้ามใช้ยาหรือสมุนไพรต่าง ๆ ช่วยขับหรือดูดซับสารพิษด้วยตนเอง

ป้องกันเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุอาจเกิดจากร่างกายหลั่งอินซูลินออกมาน้อยหรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง หากใส่ใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงและควบคุมอาการป่วยของโรคเบาหวานได้ เช่น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดความอ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ หลายคนเชื่อกันว่าการบริโภคพืชหรือสมุนไพรบางชนิดอาจมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและต้านโรคเบาหวานได้เช่นกัน

ผักบุ้งเป็นหนึ่งในพืชที่กล่าวกันว่าว่ามีสรรพคุณช่วยควบคุมอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 งานวิจัยชิ้นหนึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ด้านนี้ทั้งกับคนและหนูทดลอง ผลลัพธ์คือระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองลดลงหลังกินใบผักบุ้งติดต่อกัน 1 สัปดาห์ เช่นเดียวกับเมื่อทดลองกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงร้อยละ 29.4 จากการวัดผลหลังให้รับประทานสารสกัดผักบุ้งเพียงครั้งเดียว สอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าหนูทดลองซึ่งกินสารสกัดจากผักบุ้งมีระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าหนูที่ไม่ได้กินร้อยละ 47.5 ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลในเลือดเทียบเท่ากับยารักษาโรคเบาหวานอย่างยาโทบูตาไมด์ ผลการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการบริโภคผักบุ้งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้

นอกจากนี้ ผักบุ้งอาจใช้เป็นยาต้านโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ด้วย เนื่องจากการทดลองกับหนูที่ท้องพบว่าอาหารเสริมผักบุ้งช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในแม่หนูและตัวอ่อนได้ โดยลดความเสี่ยงการเกิดโรคนี้ในตัวอ่อนได้ร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับแม่หนูที่ไม่ได้กินอาหารเสริมดังกล่าว

แม้จะปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานของผักบุ้ง แต่งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการทดลองในสัตว์ จึงต้องรอให้มีการศึกษาระยะยาวกับกลุ่มคนจำนวนมากต่อไป เพื่อระบุว่าผักบุ้งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากน้อยเพียงใดหากนำมาใช้กับคน ผู้ที่ต้องการรับประทานผักบุ้งหรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของผักบุ้งเพื่อใช้ประโยชน์จากสรรพคุณด้านนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร เนื่องจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผักบุ้งที่ปลูกขายในกรุงเทพนั้นปนเปื้อนสารพิษอย่างตะกั่วและแคดเมียม รวมทั้งมีปริมาณสารปรอทสูง ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย

รักษาโรคตับ เป็นปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น โรคตับจากพิษแอลกอฮอล์ โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบ โรคตับจากการสะสมธาตุเหล็กรอบตับ หรือโรคตับแข็งที่เกิดจากความผิดปกติของท่อน้ำดี เชื่อกันว่าผักบุ้งมีฤทธิ์รักษาโรคเหล่านี้ตามตำรับยาอายุรเวท อีกทั้งการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางงานชี้ให้เห็นว่าผักบุ้งอาจมีฤทธิ์ป้องกันโรคตับ งานวิจัยหนึ่งจึงทดลองโดยให้หนูที่มีภาวะพิษต่อตับเรื้อรังกินสารสกัดผักบุ้งเป็นเวลา 2 เดือน ผลพบว่าสารสกัดดังกล่าวช่วยลดความเสียหายของเซลล์ที่เกิดภาวะพิษต่อตับได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ควรมีการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยจริง เนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณในการรักษาโรคตับของผักบุ้งในปัจจุบันมีเพียงการทดลองในสัตว์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าผักบุ้งมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อการใช้รักษาผู้ป่วยโรคตับได้จริงตามวิธีทางการแพทย์ ทางที่ดีควรป้องกันโรคนี้โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเลี่ยงความเสี่ยง ได้แก่ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรเข้ารับการวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ในกรณีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

กินผักบุ้งอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์

คุณประโยชน์บางประการของผักบุ้งไม่เพียงมีการกล่าวอ้างในตำรับยาสมุนไพร แต่ยังได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จากงานวิจัยต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าผักบุ้งมีสารปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่ว แคดเมียม และปรอท โดยเฉพาะสารปรอทที่อันตรายต่อสตรีมีครรภ์และทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาความคิด สติปัญญา ความจำ ทักษะการใช้ภาษา การเคลื่อนไหวอวัยวะ และการมองเห็น นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารปรอทอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ภูมิคุ้มกันร่างกาย ปอด ไต หรือเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคผักบุ้งโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นแหล่งสารอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพียงเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาด รวมทั้งนำไปปรุงอาหารอย่างถูกสุขอนามัย และอาจใช้วิธีต้ม ต้มให้เปื่อยในหม้ออัดแรงดัน หรืออบในไมรโครเวฟ เพื่อคงคุณค่าทางอาหารไว้ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าผักบุ้งที่ปรุงสุกด้วยกระบวนการดังกล่าวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *