ปูติน

วลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผู้นำประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้นำที่มีบทบาททางการเมือง ผ่านกฎหมายปฏิรูปขั้นพื้นฐานหลายฉบับ โดยต้องการให้รัสเซียเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงาน ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ปูตินก็ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตขึ้น ความยากจนลดลงมากกว่า 50% แม้ปูตินจะมีภาพลักษณ์ ไม่เป็นประชาธิปไตย เน้นรัสเซียเป็นหลัก ทำให้ได้รับความนิยมในสังคมรัสเซีย จนนิตยสารฟอบส์ได้จัดอันดับให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกในปี 2013  ถึง 2015 โดยฟอบส์ได้อธิบายว่าเขาเป็น “บุรุษเพียงไม่กี่คนของโลกที่ทรงอิทธิพลพอจะทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ”

จากสงครามยูเครน รัสเซียในครั้งนี้ ปูตินได้ลงนามรับรองสถานะความเป็นรัฐอิสระในพื้นที่โดเนสต์-ลูฮันสก์ ในภูมิภาคดอนบาสของ ยูเครน พร้อมสั่งการให้ส่งกองกำลังทหารเพื่อ “รักษาสันติภาพ” เข้าไปในพื้นที่ และล่าสุดได้เปิดฉากโจมตียูเครนแล้ว เพื่อยึดแผ่นดินของยูเครน ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซีย และไม่ต้องการยูเครนเข้าร่วมสมาชิก  NATO

ปูติน

HIGHLIGHTS

ณ เวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของบุรุษนามว่า ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ผู้สั่งการให้กองทัพรัสเซียภายใต้บัญชาการบุก ยูเครน ผู้เป็นคู่สงครามกับโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีอย่างเต็มอัตรา สร้างความช็อกและตกตะลึงไปทั่วโลก เรียกได้ว่าเป็นการเดิมพันเกือบหมดหน้าตักที่ต้องแลกเกือบทุกอย่างเลยก็ว่าได้

เราไปทำความรู้จักกันว่า ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ผู้นำที่บ้าดีเดือดแห่งรัสเซียผู้นี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

วัยเด็กยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

วลาดิเมียร์ วลาดิมีโรวิช ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1952 ณ เมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) เป็นบุตรของ วลาดิเมียร์ สปิริโดโนวิช ปูติน (ชื่อเดียวกับพ่อ) และมาเรีย อิวานอฟนา ปูตินา เป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว พี่ชาย 2 คนเสียชีวิตก่อนที่เขาจะเกิด โดยคนแรก อัลเบิร์ต เสียชีวิตก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 และพี่ชายคนที่ 2 วิคเตอร์ เสียชีวิตจากโรคคอตีบในช่วงที่เลนินกราดถูกปิดล้อมโดยนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2

ครอบครัวปูตินมีอพาร์ตเมนต์บนชั้น 5 ของบ้านเลขที่ 12 ตรอกบาสคอฟ กลางเมืองเลนินกราด โดยเป็นบ้านที่เขาอยู่มาโดยตลอด จนกระทั่งได้เข้าร่วมหน่วยสืบราชการลับเคจีบี (KGB)

ในวัยเด็กปูตินได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประถมหมายเลข 193 ก่อนที่จะเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนหมายเลข 281 ที่เป็นโรงเรียนสายเคมีซึ่งร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยี (Technological Institute) และจบการศึกษาในปี 1970

ปูตินในวัย 17 ปี มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมกับหน่วยสืบราชการลับ KGB เขามีความฝันตั้งแต่เด็กๆ และมีแพสชันจากบรรดาหนังจารกรรมฉบับโซเวียต ในห้องที่บ้านนอกเมืองของเขาที่ทอสโน (Tosno) เคยมีรูปของ ยาน เบียร์ซิน (Yan Berzin) หนึ่งในผู้ก่อตั้งหน่วยข่าวกรองของโซเวียต ผู้มีเชื้อสายลัตเวีย เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเขาอินกับ KGB มาโดยตลอดตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นปูตินในวัย 17 ปีจึงได้วอล์กอินไปตามที่ตั้งหน่วย KGB ทุกที่ทั่วเมือง เพื่อสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งอาจจะเห็นแววของปูตินได้แนะนำให้ปูตินไปศึกษาต่อในสายมนุษย์ศาสตร์

วัยรุ่นยุคสงครามเย็นกำลังเข้มข้น

ปูตินในช่วงปี 1970-1975 จึงได้เป็นนักศึกษาแผนกกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ที่ซึ่งปูตินได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต โดยหัวข้อวิทยานิพนธ์คือ ‘Most favoured nation principle’ ที่สำคัญในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยนี้ได้พบกับอาจารย์อนาโตเลีย ซอบชัก (Anatolia Sobchak) ผู้ที่ในอนาคตจะได้เป็นผู้ทำคลอดอนาคตทางการเมืองให้กับปูตินนั่นเอง

ปูติน
10 ปีแห่งการเตรียมความพร้อมเป็นสุดยอดสายลับ

หลังจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตในปี 1975 ปูตินได้รับการติดยศเป็นนายร้อยตรีเหล่าทหารปืนใหญ่ ก่อนที่จะถูกส่งเข้าไปอบรมหลักสูตรการปฏิบัติการสายลับ และได้รับการติดยศเป็นร้อยตรีอาวุโส ปูตินเติบโตในสายงานในองค์กรหน่วย KGB ประจำเลนินกราดมาโดยลำดับ ทั้งสายการต่อต้านข่าวกรองและการข่าวกรองนอกประเทศ ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือการปฏิบัติการเป็นสายลับอย่างเต็มตัวในดินแดนต่างประเทศนั่นเอง ที่สำคัญปูตินยังได้เข้าเรียนภาษาเยอรมันด้วย

ชีวิตสายลับเต็มตัว

หลังจากที่ปูตินได้พิสูจน์ตัวเองให้หน่วยงานเห็นแล้วว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้อย่างยอดเยี่ยม มีระเบียบวินัย และมีความสุขุมรอบคอบ จึงได้รับการคัดเลือกส่งไปปฏิบัติการ ณ เมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนีตะวันออก ที่เป็นดินแดนในกลุ่ม Eastern Bloc และเป็นหนึ่งในพื้นที่หน้าด่านของกลุ่มดินแดนหลังม่านเหล็กที่ต้องประชิดกับดินแดนโลกเสรีที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และโชคชะตาที่พัดพาปูตินมาเยอรมนีตะวันออกในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของเขาและของโลกในเวลาต่อมา

ปูตินถูกส่งเข้าไปเป็นผู้แทน KGB ประจำกระทรวงความมั่นคงภายในแห่งเยอรมนีตะวันออก โดยมีพันเอกลาซาร์ มัตเวเยฟ (Col. Lazar Matveyev) เป็นผู้บังคับบัญชา โดยปูตินมีฉากหน้าเป็นผู้อำนวยการบ้านแห่งมิตรภาพโซเวียต-เยอรมนีตะวันออก หน่วยงานที่ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน สาขาเดรสเดน ภารกิจหลักคือ การปฏิบัติการด้านข่าวกรองจากประเทศฝ่ายตรงข้ามอย่างประเทศกลุ่มยุโรปตะวันตกที่เป็นพันธมิตรสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีตะวันตก ที่มีการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยใกล้พุ่งเป้ามายังสหภาพโซเวียต โดยในช่วงที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในเดรสเดรน เขาพำนักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ 3 ห้องนอนที่เป็นที่พักรับรองของเหล่านายตำรวจลับสตาซี (Stasi) แห่งเยอรมนีตะวันออก รวมไปถึงรถยนต์ ‘ฌิกูลี (Zhiguli) รุ่น 6 รุ่นยอดนิยมของโซเวียตในยุคนั้น เมื่อหน้าที่การงานของเขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ไต่เต้าขึ้นมาจนกระทั่งติดยศพันโท ผู้ช่วยของผู้บังคับบัญชาหน่วย KGB ในเดรสเดน

ปูติน
ชีวิตการเมืองท้องถิ่น

หลังปูตินเข้าสู่ชีวิตพลเรือนอย่างเต็มตัว ปูตินได้เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของศาสตราจารย์สตานิสลาฟ เมียร์คูเรียฟ (Prof. Stanislav Merkuryev) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งจะเป็นผู้ที่แนะนำให้ปูตินรู้จักกับซอบชัก ซึ่งต่อมาจะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นั่นเอง

เส้นทางทางการเมืองของปูตินเริ่มต้นขึ้นทันที หลังจากที่ซอบชักได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเขามีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าการ โดยภารกิจของปูตินคือการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้านการท่องเที่ยวเข้ามายังเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก และการควบคุมการพนัน อีกทั้งยังได้พาบริษัทต่างๆ ของเยอรมนีมาเปิดกิจการการลงทุนในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นคนแรกๆ รวมไปถึงเป็นหนึ่งในผู้จัดการแข่งขัน ‘Goodwill Games’ ซึ่งทำให้ปูตินได้คอนเน็กชันกับบรรดานักธุรกิจอเมริกันอีกเป็นจำนวนไม่น้อย 

ปูตินเติบโตในเส้นทางการเมืองท้องถิ่นมาโดยลำดับ ไต่เต้าจนกระทั่งเป็นรองคณะผู้บริหารเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กว่าด้วยเครือข่ายความมั่นคงภายใน ที่ต้องประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงแต่ละภูมิภาค 

ในที่สุดเส้นทางการเมืองท้องถิ่นของปูตินก็สิ้นสุดลง หลังอนาโตเลีย ซอบชัก แพ้การเลือกตั้งในสมัยต่อมาและไม่ได้ไปต่อ แม้ว่าผู้ชนะเป็นผู้ว่าฯ คนใหม่อย่าง วลาดิเมียร์ ยาคอฟเลฟ (Vladimir Yakovlev) จะมองเห็นความสามารถและได้เชิญปูตินกลับมาทำงานช่วยคณะบริหารผู้ว่าฯ เหมือนเดิม แต่ปูตินปฏิเสธที่จะเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย และถ้าตอบรับคำเชิญนั้นก็เท่ากับว่าเขาทรยศเจ้านายเก่าอย่างอนาโตเลีย ซอบชัก ปูตินจึงเลือกที่จะเดินออกมาเอง

เพราะเส้นทางถัดมาของเขาคือเส้นทางที่มุ่งสู่เครมลิน โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ยุคแห่งความรุ่งโรจน์

ภาพวันที่กำแพงเบอร์ลินและสหภาพโซเวียตที่เคยรุ่งโรจน์ล่มสลายลง อาจจะยังคงฉายวนอยู่ในหัวของปูตินตลอดมา เขาจึงคาดหวังที่จะฟื้นฟูศักดิ์ศรีของรัสเซียกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ผลงานแรกๆ หลังขึ้นเป็นผู้นำรัสเซียคือ การให้รัสเซียกลับไปใช้ทำนองเพลงชาติในยุคโซเวียต โดยมีการเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ จากการนี้สื่อตะวันตกจึงเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เขาต้องการฟื้นฟูเกียรติภูมิของสหภาพโซเวียตให้กับรัสเซียในยุคใหม่ที่ปูตินเป็นผู้รับผิดชอบ

ปูตินยังได้กู้หน้าของรัสเซียในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ด้วยการทำสงครามอย่างเด็ดขาด ส่งกองทัพรัสเซียเข้าโจมตีเชชเนียและดาเกสถาน แม้ชาติตะวันตกจะตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ปูตินก็ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม สั่งตามล้างตามฆ่าผู้นำผู้ปลุกระดมอย่างไม่ลดละ ในขณะเดียวกันก็เข้าล็อบบี้กับฝ่ายกบฏบางสายที่ต้องการประนีประนอมกับรัฐบาลกลาง เช่น การให้การสนับสนุนอัคเหม็ด คาดีรอฟ (Akhmed Kadyrov) อดีตผู้นำกบฏเชชเนียที่กลับลำมาภักดีกับมอสโก ปูตินก็ได้ให้การสนับสนุนและอัดฉีดอย่างเต็มที่ สถานการณ์สงบเรื่อยมาจนถึงยุคของรามซาน คาดิรอฟ (Ramzan Kadyrov) ผู้เป็นบุตรชาย ที่ทุกวันนี้เป็นผู้นำเชชเนียที่จงรักภักดีต่อปูตินอย่างเข้มข้น

ในยุคนี้ปูตินได้จัดระเบียบอำนาจใหม่ในหมู่ชนชั้นนำรัสเซีย บรรดาเศรษฐีต่างๆ ที่ไม่ยอมเล่นเกมตามปูตินก็มักจะต้องถูกตั้งข้อหาจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และได้มีการนำรัฐวิสาหกิจต่างๆ กลับคืนมาจากผู้บริหารที่ฉ้อฉล เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจด้านพลังงานที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้เข้าประเทศให้รัสเซียได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ รัสเซียค่อยๆ ทยอยปลดหนี้ตั้งแต่สมัยโซเวียต และเปลี่ยนมาเป็นความมั่งคั่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการขยายอำนาจของรัสเซียต่อไปในอนาคต ซึ่งผลงานเหล่านี้ได้สร้างคะแนนนิยมเป็นอย่างดี รวมไปถึงการที่ปูติน ผู้ซึ่งมีบุคลิกภาพดูเหมือนว่าคนจะเข้าถึงยาก เอาจริงเอาจัง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่ความเป็นจริงเป็นผู้ที่เข้าถึงประชาชน จุดนี้ก็ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากเช่นกัน

ในขณะเดียวกันสื่อตะวันตกก็ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและรายงานการเสียชีวิตอย่างปริศนาของบรรดาผู้สื่อข่าวหรืออดีตเจ้าหน้าที่รัฐแปรพักตร์ของรัสเซีย ภายใต้การบริหารประเทศของปูตินหลายต่อหลายครั้ง

ปูติน
ผู้นำตลอดกาล?

ปูตินได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอีกครั้งในปี 2012 โดยมีผลงานต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพาให้รัสเซียก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง ทั้งในแง่ของฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทการเมืองระหว่างประเทศ ความมั่งคั่งจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียนำมาสู่การลงทุนในประเทศหลายอย่าง และการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แต่ละเมืองของรัสเซียสามารถรองรับการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ ทั้งการประชุมหรือการแข่งขันกีฬาได้ เช่น วลาดิวอสต็อก โซชิ ฯลฯ รัสเซียกลายเป็นผู้มีทองคำสำรองมากเป็นอันดับ 5 ของโลก (ในปี 2021)

ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการตรากฎหมายที่ฝ่ายตะวันตกเรียกว่าเป็นการเริ่มลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอินเทอร์เน็ต กฎหมาย ‘Inogent’ ที่กำกับดูแลองค์กรที่มีท่อน้ำเลี้ยงจากต่างประเทศ เป็นต้น

จากเหตุการณ์ปฏิวัติไมดานในยูเครนที่ขับไล่รัฐบาลโปรรัสเซียเมื่อปี 2014 ที่แม้รัสเซียจะเสียผลประโยชน์ในยูเครน ก็ได้สร้างคะแนนความนิยมในตัวปูตินได้เช่นกัน เมื่อรัสเซียใช้ข้ออ้างที่รัฐบาลใหม่ของยูเครนมีนโยบายใหม่ละเมิดชนเชื้อสายรัสเซีย จนรัสเซียสนับสนุนให้ไครเมียแยกและมาผนวกรวมกับรัสเซียได้สำเร็จเมื่อปี 2014 ยิ่งสร้างคะแนนนิยมให้ปูตินเป็นอย่างมาก

ในขณะเดียวกันนับแต่นั้นเป็นต้นมาเศรษฐกิจรัสเซียก็เริ่มถดถอยจากนโยบายคว่ำบาตรของโลกตะวันตกจากกรณีดังกล่าวเช่นกัน จึงมีสัญญาณความนิยมที่เป็นช่วงขาลง

ปูตินได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรัสเซียอีกสมัยในปี 2018 ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสจากสื่อตะวันตก แต่ปูตินก็ไม่สน เดินหน้าปกครองและบริหารรัสเซียต่อไป ปูตินจัดสรรให้สัดส่วนงบประมาณจำนวนมากลงมาในภาคความมั่นคง ทั้งทหารและตำรวจ ดังนั้นกลไกที่ควบคุมความสงบเรียบร้อยจึงแข็งแกร่งมาก แม้จะมีผู้นำฝ่ายค้านนอกสภาอย่าง อเล็กเซย์ นาวัลนี (Alexei Navalny) เปิดแคมเปญแฉปูตินและจัดม็อบชนปูติน ก็ถูกทางการรัสเซียควบคุมไว้ได้อยู่ รวมไปถึงการปฏิรูประบบบำนาญ จึงได้ฐานเสียงสนับสนุนจากกลุ่มประชาชนผู้สูงวัย

ปูติน

และในสมัยนี้เองที่มีการจัดประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ Set Zero ระยะเวลาสมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หมายความว่าปูตินที่ควรจะต้องลงจากตำแหน่งผู้นำในสมัยที่ 2 ในปี 2024 นั้นจะสามารถมีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งได้อีก โดยวาเลนตินา เทเรชโควา (Valentina Tereshkova) อดีตนักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกและของรัสเซีย เป็นผู้เสนอญัตตินี้ในฐานะวุฒิสมาชิก และได้รับการเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าเราจะยังไม่เห็นว่าจุดสิ้นสุดความเป็นผู้นำปูตินอยู่ตรงไหน

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทิ้งไพ่ใบสำคัญอย่างการตัดสินใจเข้าบุกยูเครนในครั้งนี้นั้นได้ทำให้ชื่อเสียงของปูตินหักเหไปในทางลบทันที รวมไปถึงมติมหาชนชาวรัสเซียจำนวนมากก็ไม่ได้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว

ไพ่นี้จะเป็นไพ่เสียหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

One Response

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *