ประเภทจอมือถือ

หน้าจอแสดงผลเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีจากตัวสมาร์ทโฟนไปยังผู้ใช้ ซึ่งทางผู้ผลิตเองก็ตระหนักในจุดนี้ และพยายามพัฒนาหน้าจอแสดงผลให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้เราได้เห็นหน้าจอแสดงผลหลาย ประเภทจอมือถือ ไม่ว่าจะเป็น TFT, IPS หรือ AMOLED แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าหน้าจอแบบต่างๆ นี้ มีคุณสมบัติที่ต่างกันอย่างไร และแบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งในวันนี้เราก็จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักและสาระน่ารู้กับจอแสดงผลประเภทต่างๆ บนสมาร์ทโฟนกัน

รู้จักกับหน้าจอ LCD

ประเภทจอมือถือ

หน้าจอ LCD (Liquid Crystal Display) เป็นหน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัลที่ใช้ผลึกเหลวเป็นองค์ประกอบหลัก ประกบทับด้วยฟิลเตอร์บางๆ หลายชั้นเหมือนแซนด์วิช และมีไฟ backlight เป็นแหล่งกำเนิดแสง โดยแสงจาก backlight จะส่องผ่านฟิลเตอร์แต่ละชั้นรวมถึงชั้นผลึกเหลว โดยผลึกเหลวจะถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าให้เรียงตัวกัน ทำให้แสง backlight เกิดการหักเห จนเกิดเป็นจุดสว่างและมืดบนหน้าจอ จากนั้นแสงจะผ่านฟิลเตอร์ RGB จนเกิดเป็นสีสันขึ้นมา กลายเป็นภาพที่เราเห็นบนหน้าจอ โดย ประเภทจอมือถือ ของหน้าจอ LCD ที่ใช้กันในสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ :

 1. TFT LCD

หน้าจอ TFT LCD คือจอ LCD ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Active Matrix ซึ่งมีแผ่นฟิล์ม TFT (Thin-Film Transistor) ทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญาณควบคุมผลึกเหลวให้เรียงตัวกันเพื่อปิดกั้น หรือเปิดทางให้แสง backlight ผ่านออกมาบนเม็ดพิกเซล คุณภาพการแสดงผลดีพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป และมีราคาถูกกว่าจอประเภทอื่น เราจึงมักจะพบจอ TFT ในสมาร์ทโฟนราคาประหยัดเสียเป็นส่วนใหญ่

2. IPS LCD

จอ IPS LCD (In-Plane Switching) เป็นหน้าจอที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในวงการสมาร์ทโฟน พัฒนาต่อยอดมาจากจอ TFT โดยแต่ละพิกเซลจะมีตัวส่งสัญญาณ 2 ตัว ทำให้มีสีสันสดใส และมีมุมมองการแสดงผลที่กว้างกว่าจอ TFT แต่ก็มีราคาแพงกว่าจอ TFT เช่นกัน

รู้จักกับหน้าจอ OLED

OLED (Organic Light Emitting Diodes) เป็นจอภาพที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตต่างจาก LCD มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มที่มีส่วนประกอบเป็นสารอินทรีย์ สามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเองเมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า จึงไม่จำเป็นต้องมี backlight สีดำบนจอ OLED จะถูกแสดงผลด้วยการดับไฟ ทำให้จอ OLED แสดงผลสีดำได้อย่างเข้มข้นสมจริง และกินไฟน้อยลง ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ในการพัฒนาฟีเจอร์ Always-On Display เพื่อให้สมาร์ทโฟนแสดงข้อมูลบนหน้าจอได้ตลอดเวลาโดยไม่เปลืองแบตเตอรี่นั่นเอง 

ด้วยความที่ไม่ต้องพึ่งพา backlight ทำให้จอ OLED บางกว่าจอ LCD และยังมีความยืดหยุ่น สามารถโค้งงอได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการผลิตสมาร์ทโฟนพับได้อย่าง Samsung Galaxy Fold และ Motorola Razr อีกทั้งยังมี contrast ratio สูงกว่าจอ LCD อีกด้วย แต่ก็แน่นอนว่ามีราคาที่แพงกว่าเช่นกัน

หน้าจอ OLED ที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในวงการสมาร์ทโฟนมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. AMOLED

AMOLED (Active Matrix Organic Light Emitting Diode) คือจอ OLED ที่ได้รับการอัปเกรดด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี Active Matrix แบบจอ TFT ช่วยยกระดับการแสดงผลให้ดียิ่งขึ้น จนได้สีดำที่ “ดำ” กว่า, สีสันสว่างสดใสกว่า และมีอัตรารีเฟรชสูงกว่า แต่มีข้อเสียคือ จอประเภทนี้จะสู้แสงแดดได้ไม่ดีนัก จอ AMOLED มักจะนำมาใช้ในสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีให้เห็นในสมาร์ทโฟนระดับกลางมากขึ้น

2. PMOLED

PMOLED (Passive Matrix Organic Light Emitting Diode) คือจอ OLED อีกแบบหนึ่งที่มีการวางเส้นขั้วแคโทดและแอโนดซ้อนกันแบบตั้งฉาก โดยตำแหน่งที่เป็นจุดตัดของเส้นขั้วคือจุดพิกเซล ซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าภายนอก โดยความสว่างจะขึ้นอยู่กับปริมาณของกระแสไฟที่จ่ายเข้าไป หน้าจอประเภทนี้ผลิตง่าย แต่ใช้พลังงานสูงกว่าจอ OLED แบบอื่น มักใช้กันในอุปกรณ์ที่มีหน้าจอขนาดเล็ก (2-3 นิ้ว) เช่นเครื่องเล่น MP3 หรือหน้าจอรองบนสมาร์ทโฟนบางรุ่น เป็นต้น

3. pOLED

บางครั้งเราอาจจะได้เห็นการพูดถึงหน้าจอ pOLED ซึ่งต้องขอบอกให้ชัดเจนว่ามันไม่ได้หมายถึง PMOLED แต่หน้าจอ pOLED คือหน้าจอ OLED ที่ใช้เลเยอร์พลาสติกแทนเลเยอร์ที่เป็นกระจก เพื่อให้บางลง และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ปัจจุบันหน้าจอ OLED ส่วนใหญ่บนสมาร์ทโฟนจะเป็นประเภทนี้ทั้งหมด ตามเทรนด์ของวงการที่นิยมจอโค้งและจอพับมากขึ้น

2. Super AMOLED

Super AMOLED คือหน้าจอ AMOLED ที่ปรับโครงสร้างใหม่ด้วยการแทรกเซ็นเซอร์รับสัมผัสเข้าไปในจอ ทำให้ยิ่งบางลงไปอีก ขณะเดียวกัน ยังมีการอัปเกรดให้จอสว่างขึ้น, ประหยัดพลังงานมากขึ้น, สู้แสงแดดได้ดีขึ้น และมีมุมมองที่กว้างขึ้น เรามักจะพบจอประเภทนี้ในสมาร์ทโฟนระดับเรือธงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนตระกูล Samsung Galaxy

3. Dynamic AMOLED

Dynamic AMOLED เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ Samsung พัฒนาขึ้น โดยอัปเกรดหน้าจอ Super AMOLED ให้รองรับมาตรฐานการแสดงผลแบบ HDR10+ ที่มีการเข้ารหัสแบบ Dynamic Metadata ช่วยให้ประมวลผลภาพมืดและสว่างโดยรวมแบบอัตโนมัติได้ลึกขึ้น และสมจริงยิ่งกว่าเดิม ในทางทฤษฎีแล้วนับว่าใกล้เคียงกับดวงตามนุษย์มากที่สุด และเป็นเทคโนโลยีการแสดงผลที่ล้ำหน้าที่สุดในวงการสมาร์ทโฟน ณ ปัจจุบัน ขณะนี้ สมาร์ทโฟนที่ใช้หน้าจอแสดงผลแบบ Dynamic AMOLED มีเพียงเรือธงของทาง Samsung อย่าง Samsung Galaxy S10 Series, Galaxy S20 Series, Galaxy Note10 Series และ Galaxy Note 20 Series เท่านั้น และทั้งหมดนี้คือประเภทของหน้าจอแสดงผลที่พบเห็นได้บ่อยในวงการสมาร์ทโฟน

ตอนนี้อีกสิ่งที่เริ่มส่งผลต่อการเลือกหน้าจอก็เริ่มมีความโดดเด่นขึ้นมาแล้ว นั่นก็คือค่า Refresh Rate (หมายถึงหน้าจอสามารถแสดงภาพนิ่งได้กี่ภาพใน 1 วินาที)ซึ่งแต่เดิมทีแล้วหน้าจอที่แบบจะมีค่า Refresh Rate อยู่ที่ 60Hz เหมือน ๆ กันหมด แต่ทว่าในช่วงหลัง ๆ มานี้ แบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มทำการเพิ่มค่า Refresh Rate ให้มากขึ้น โดยในยุคแรกเริ่มการเพิ่มค่า Refresh Rate ให้สูงนั้นจะอยู่ในมือถือเกมมิ่งเป็นหลัก แต่ทว่าในยุคหลัง ๆ มานี้เริ่มมีการเพิ่มค่า Refresh Rate ให้กับมือถือสายใช้งานทั่วไปอีกด้วย ซึ่งค่า Refresh Rate ในตอนน้จะมี 60Hz (ค่าเริ่มต้น), 90Hz, 120Hz, 144Hz และ 165Hz (สูงที่สุดในตอนนี้) โดยยิ่งค่าสูงยิ่งทำให้ภาพมีความลื่นไหลมากขึ้น และยังมีความเร็วในการตอบสนองต่อการสัมผัสที่รวดเร็วขึ้นอีกด้วย ซึ่งเราก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจคุณสมบัติและความแตกต่างของจอสมาร์ทโฟนมากขึ้น และพิจารณาเลือกซื้อสมาร์ทโฟนได้อย่างมั่นใจกว่าเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *