บลูเบอร์รี่ ชื่อสามัญ Blueberry
บลูเบอร์รี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Vaccinium spp. จัดอยู่ในวงศ์ ERICACEAE
ลักษณะของบลูเบอร์รี่
- ต้นบลูเบอร์รี่ ต้นมีหลายชนาดด้วยกันตั้งแต่ต้นสูง 10 เซนติเมตร ถึง 10 เมตร มีทั้งผลัดใบและไม้ผลัดใบ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ (บลูเบอร์รี่เป็นไม้พุ่มสูงที่ปลูกในเชิงพาณิชย์นั้นถูกนำเข้าสู่ยุโรปในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930)
- ใบบลูเบอร์รี่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-8 เซนติเมตร
- ดอกบลูเบอร์รี่ ดอกเป็นรูประฆังสีขาว สีชมพู หรือสีแดง
- ผลบลูเบอร์รี่ ผลจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมษณ 5-16 มิลลิเมตร ที่ปลายผลมีวงแหวนเล็ก ๆ คล้ายมุงกุฎ ผลเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียวจาง ๆ พอแก่ขึ้นมาหน่อยก็จะมีสีม่วงแดง และเมื่อสุกจะมีสีคราม ผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว
สรรพคุณของบลูเบอร์รี่
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่รวมไปถึงบลูเบอร์รี่นั้นขึ้นชื่อว่าอุดมไปด้วยวิตามินซีที่ช่วยในเรื่องของการป้องกันโรคหวัด[1]
- และยังมีข้อมูลจากส่วนอื่น ๆ ที่ระบุว่าบลูเบอร์รี่ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดการระคายเคืองในระบบทางเดินปัสสาวะ ป้องกันโรคเบาหวาน โรคไทฟอยด์ ระบบหายใจผิดปกติ ช่วยบรรเทาอาการผิดตอในลำไส้ใหญ่ ท้องผูก โรคกระเพาะอาหาร โรคเริม แผลในปาก นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานดีขึ้น ซึ่งอาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายสูงวัย และยังช่วยป้องกันเส้นเลือดขอด ลดอาการบวม เสริมสร้างความแข็งให้ผนังหลอดเลือด ช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและเส้นเอ็น (ข้อมูลส่วนนี้ยังขาดแหล่งอ้างอิงนะครับ)
ประโยชน์ของบลูเบอร์รี่
- เบอร์รี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งร่างกายต้องการเพื่อช่วยทำให้เซลล์ในร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองจากโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งการรักษาบาดแผล การป้องกันโรคมะเร็ง ลดการเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน ตลอดจนถึงโรคเก๊าท์หรืออาการปวดตามข้อ[1]
- บลูเบอร์รี่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทภาพการทำงานของเซลล์ให้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดอันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โรคทางประสาทและสมอง ช่วยป้องกันการเสื่อมของร่างกายและชะลอความแก่ชรา ฟื้นฟูการสร้างคอลลาเจนที่ผิว ทำให้ผิวแลดูอ่อนเยาว์ ริ้วรอยดูลบเลือนลง ทำให้ผิวดูอ่อนกว่าวัย และอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ด้วย (ข้อมูลของ USDA หรือ สถาบันวิจัยโภชนาการทางด้านสรีระศาสตร์ ได้ระบุว่าบลูเบอร์รี่จัดเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด ซึ่งผลจากการทดสอบค่าที่เรียกว่า “ORAC” (Oxygen Radical Absorbance Capacity) ได้แสดงให้เห็นว่าบลูเบอร์รี่สดจะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผลไม้สดและผักชนิดอื่น)[1]
- ช่วยในเรื่องของระบบประสาทและสมอง ช่วยทำให้เซลล์สมองสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้น ทำให้ความสามารถในการจำของเราดีขึ้น ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ รักษาเซลล์สมองที่ถูกทำลาย โดยมีรายงานว่า ผศ.โรเบิร์ต คริโคเรียน แห่งศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยซินซินเนติในสหรัฐ ได้ทำการทดลองให้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ดื่มน้ำบลูเบอร์รี่คั้นสดวันละ 2 แก้ว เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน ผลการทดลองพบว่า ผู้สูงอายุเหล่านั้นมีความทรงจำที่ดีขึ้น จึงเชื่อว่าผลบลูเบอร์รี่ดิบ ๆ จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมด้วย[1],[2]
- บลูเบอร์รี่เป็นอาหารเสริมที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง[2]
- บลูเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ประกอบอยู่ โดยเป็นสารจำพวกฟลาโวนอยด์ที่มีสีแดงอมม่วง สารนี้มีประโยชน์ช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดในระดับที่เล็กมากขึ้น และช่วยในการทำงานของกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของเซลล์เรตินา
- สารแอนโทไซยาโนไซด์ (Anthocyanosides) เป็นสารที่มีคุณสมบัติเทียบได้กับสารไบโอฟลาโวนอยด์ สามารถช่วยทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรง ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และสารชนิดนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของไต และช่วยรักษาผู้ที่มีเส้นเลือดฝอยเปราะในอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองของเสีย และสารแอนโธไซยาโนไซด์ชนิดหนึ่งคือสาร ไมร์ทิลลิน (Myrtliiln) เป็นสารสีน้ำเงินที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคที่เรียได้ด้วย
- สารแอนโทไซยานินที่พบได้มากในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่รวมถึงบลูเบอร์รี่ มีส่วนช่วยในการป้องกันอาการอ่อนล้าจากการใช้สายตาหนัก ช่วยทำให้สายตาทำงานได้ดีขึ้นในที่มืด และยังช่วยป้องกันต้อกระจก ต้อหิน ต้อลม ช่วยลดความดันในลูกตา และลดความเจ็บปวดจากการบวมในลูกตา โดยข้อมูลจาก Archives of Ophthalmology ชี้ว่าการรับประทานบลูเบอร์รี่วันละ 3 ถ้วย จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคตาที่เกิดในวัยผู้ใหญ่ได้ด้วย[1],[2]
- ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า[1]
- ช่วยในเรื่องของระบบการย่อยอาหารและทำให้การขับถ่ายของร่างกายทำงานได้เป็นระบบมากขึ้น จึงช่วยป้องกันโรคท้องผูกและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้[1],[2]
- บลูเบอร์รี่มีสาร Pterostilbene ที่ช่วยรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และตับ และยังมีกรด Ellagic ที่ทำงานควบคู่กับแอนโทไซยานิน และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ป้องกันมะเร็ง โดยผลการวิจัยของ Journal of Agricultural and Food Chemistry ชี้ว่าบลูเบอร์รี่มีสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งด้วย[2]
- ในเรื่องของระบบปัสสาวะ แบคทีเรียอีโคไลที่ผนังท่อทางเดินปัสสาวะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่มีผลทำให้เกิดอาการอักเสบและรู้สึกแสบในขณะปัสสาวะ บลูเบอร์มีสารที่ทำให้แบคทีเรียชนิดนี้หยุดการเจริญเติบโต และช่วยล้างแบคทีเรียออกจากทางเดินปัสสาวะ[2]
- สำหรับผู้ที่กำลังหาวิธีควบคุมน้ำหนักหรือลดความอ้วนแบบง่าย ๆ แต่ได้ผล แนะนำให้รองรับประทานบลูเบอร์รี่ เพราะผลไม้ชนิดนี้เป็นแหล่งของพลังงานชั้นยอดที่มีแคลอรี่ต่ำ ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะมีเส้นใยอาหารที่ช่วยทำให้เรารู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มนานกว่าเดิม[1]
- บลูเบอร์รี่มีสารเพคตินที่สามารถช่วยในการลดระดับของคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด[1]
- จากการศึกษาของศูนย์หัวใจและหลอดเลือด มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้แสดงให้เห็นว่าบลูเบอร์รี่อาจช่วยลดไขมันหน้าท้อง และความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยพบว่าหนูทดลองที่รับประทานผงบลูเบอร์รี่ผสมในอาหารของหนู เป็นระยะเวลา 90 วัน มีไขมันหน้าท้องน้อยลง และระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง[2]
- บลูเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่เป็นตัวต่อต้านสารพิษ และช่วยล้างพิษในร่างกาย[1]
- วิตามินซีในผลบลูเบอร์รี่จะช่วยในการบำรุงผิวพรรณให้สดใส เปล่งปลั่ง และแก้มแดงมีเลือดฝาด[1]
คุณค่าทางโภชชนาการของบลูเบอร์รี่ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 57 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 14.49 กรัม
- น้ำตาล 9.96 กรัม
- ใยอาหาร 2.4 กรัม
- ไขมัน 0.33 กรัมน้ำ
- โปรตีน 0.74 กรัม
- น้ำ 84.21 กรัม
- วิตามินเอ 54 หน่วยสากล
- วิตามินบี1 0.037 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.041 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 0.418 มิลลิกรัม
- วิตามินบี6 0.052 มิลลิกรัม
- วิตามินบี9 6 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 9.7 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 0.57 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 19.3 ไมโครกรัม
- แคลเซียม 6 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.28 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 12 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 77 มิลลิกรัม
- โซเดียม 1 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.16 มิลลิกรัม