เบื่ออาหาร (Loss of Appetite) คือ อาการไม่รู้สึกอยากอาหาร หรือความต้องการรับประทานอาหารลดลง โดยภาวะเบื่ออาหารนี้เกิดได้จากปัญหาสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพจิต โดยมีทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารชั่วคราว เช่น ภาวะเบื่ออาหารจากการใช้ยาบางอย่าง และสาเหตุที่ทำให้เบื่ออาหารอย่างรุนแรง เช่น ภาวะเบื่ออาหารจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิด ทั้งนี้ ผู้ที่เบื่ออาหารอาจเกิดอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด หรือขาดสารอาหาร หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาจทำให้อาการแย่ลง ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว เพื่อรับการรักษาต่อไป
อาการ เบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหารจะทำให้ผู้ที่ประสบภาวะนี้รู้สึกไม่เจริญอาหาร หรืออยากอาหารน้อยลง ไม่อยากกินหรือปฏิเสธอาหารที่เคยชอบ รวมทั้งน้ำหนักตัวลดลง ส่วนผู้ที่เบื่ออาหารจากความเครียดหรือโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการกิน มักเกิดอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- เสียใจมาก ๆ หรือรู้สึกผิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- เบื่อหน่ายหรือไม่มีแรงจูงใจทำสิ่งที่เคยชอบ
- นอนไม่หลับ
- ท้องผูก
- คลื่นไส้
- คิดฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาทันทีในกรณีที่เกิดอาการต่อไปนี้
- คลื่นไส้และรับประทานอาหารไม่ได้หลายวัน
- น้ำหนักลดลง 2 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น หรือน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกเจ็บเมื่อรับประทานอาหาร
- ไม่ได้ปัสสาวะทุกวัน หรือไม่ได้ขับถ่ายมา 2 วันหรือมากกว่านั้น
- ปัสสาวะออกน้อย หรือปัสสาวะกะปริบกะปรอย มีกลิ่นแรง รวมทั้งปัสสาวะมีสีเข้ม
- อาเจียนมากกว่า 24 ชั่วโมง
- ไม่สามารถดื่มน้ำหรือกลืนของเหลวลงคอได้
- มีอาการปวดมากจนระงับอาการดังกล่าวให้หายไม่ได้
- ประสบภาวะขาดประจำเดือน
สาเหตุของการเบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหารเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ผู้ที่เกิดอาการเบื่ออาหารจะกลับมาเจริญอาหารและรับประทานได้ตามปกติเมื่อได้รับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว โดยสาเหตุที่ทำให้เบื่ออาหารแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิต และการใช้ยา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ปัญหาสุขภาพกาย โดยทั่วไปแล้ว อาการเบื่ออาหารมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารจากการติดเชื้อดังกล่าวจะมีอาการของไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย เช่น ไอ อ่อนเพลีย หรือจาม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะกลับมารู้สึกอยากอาหารและรับประทานได้ตามปกติ เนื่องจากโรคที่ติดเชื้อเหล่านี้มักป่วยไม่นาน นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพกายอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารยังมีอีกหลายอย่าง ได้แก่
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งกระเพาะอาหาร
- มะเร็งตับอ่อน
- สมองเสื่อม
- หัวใจวาย
- ตับวายเรื้อรัง
- ไตวายเรื้อรัง
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ไวรัสตับอักเสบ
- เชื้อเอชไอีวี
- ไฮโปไทรอยด์
- ตั้งครรภ์ช่วงแรก
- ปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพจิต ผู้ที่เกิดอาการซึมเศร้า เสียใจมาก ๆ เบื่อหน่าย เครียด หรือกังวล มีแนวโน้มรู้สึกอยากอาหารน้อยลง โดยอาการซึมเศร้าจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ซึ่งรวมไปถึงการรับประทานอาหาร อาการเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพจิตมักเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย และไม่มีแรงจูงใจทำสิ่งต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ที่ประสบภาวะการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ก็มักเกิดอาการเบื่ออาหาร เช่น ผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) มักอดอาหารหรือทำทุกวิธีเพื่อควบคุมน้ำหนักให้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์และกลัวว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มอยู่เสมอ ผู้ป่วยอะนอเร็กเซียอาจประสบภาวะขาดสารอาหารได้หากอดอาหารไปเรื่อย ๆ และไม่รับการบำบัดรักษา
- การใช้ยา ยารักษาปัญหาสุขภาพบางอย่างส่งผลให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานั้นอยากอาหารน้อยลง โดยยาที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็ง ยาโคเดอีน (Codeine) และมอร์ฟีน ทั้งนี้ การใช้สารเสพติดก็ส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ได้แก่ โคเคน เฮโรอีน และแอมเฟตามีน
การรักษาอาการเบื่ออาหาร
วิธีรักษาอาการเบื่ออาหารมีหลายวิธี โดยแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ผู้ที่เกิดอาการเบื่ออาหารอาจรับการรักษาจากแพทย์และดูแลตัวเอง ดังนี้
- อาการเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพกาย อาการเบื่ออาหารจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสจะหายไปหากผู้ป่วยรับประทานยาและดูแลตัวเองให้ดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยขั้นตอนทางการแพทย์ที่ซับซ้อน ส่วนผู้ป่วยที่ประสบภาวะขาดสารอาหารหรือมีเกลือแร่ในร่างกายต่ำจะได้รับการให้น้ำเกลือหรือสารอาหารเข้าทางหลอดเลือดดำ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เบื่ออาหารจากโรคมะเร็งหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ มักรักษาอาการเบื่ออาหารให้หายได้ยาก แต่ผู้ป่วยช่วยดูแลอาการไม่ให้แย่ลงได้ โดยปฏิบัติ ดังนี้
- รับประทานอาหารกับครอบครัวหรือเพื่อน โดยทำอาหารที่ผู้ป่วยชอบกิน หรือออกไปรับประทานอาหารข้างนอก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารมากขึ้น
- พยายามรับประทานอาหารให้ได้มากตามที่ต้องการ แต่ไม่ควรฝืนรับประทานมากเกินไป
- รับประทานมื้อใหญ่มื้อเดียวในหนึ่งวัน และรับประทานของกินเล่นหรือของว่างอื่น ๆ ระหว่างวัน
- รับประทานอาหารมื้อย่อยบ่อย ๆ จะช่วยให้กระเพาะอาหารย่อยได้ง่าย โดยแบ่งเป็น 5-6 มื้อย่อย แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่สามมื้อต่อวัน
- ควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีโปรตีน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอเพื่อเลี่ยงภาวะขาดน้ำ โดยดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร และเลี่ยงดื่มน้ำขณะรับประทานอาหาร เนื่องจากจะทำให้อิ่มเร็ว
- ดื่มชามินต์หรือน้ำขิงเพื่อช่วยลดอาการขมปากขมคอ
- ออกกำลังกายเบา ๆ ก่อนมื้ออาหารประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
- อาการเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยที่เกิดอาการเบื่ออาหารและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า เครียด หรือป่วยเป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร อาจต้องปรึกษาและรักษากับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
- อาการเบื่ออาหารจากการใช้ยา ผู้ที่รู้สึกเบื่ออาหารโดยมีสาเหตุมาจากการใช้ยารักษาโรคบางอย่าง อาจต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาขอเปลี่ยนปริมาณยาหรือให้สั่งจ่ายยาตัวอื่นมาใช้รักษาแทน อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนยาหรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ส่วนผู้ที่เบื่ออาหารอันเนื่องมาจากการใช้สารเสพติดจะต้องเข้ารับการบำบัดกับนักจิตวิทยาหรือผู้ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาอาการติดยาเสพติด