อาหารเป็นพิษ ในที่นี้หมายถึง อาการท้องเดิน (อุจจาระร่วง) เนื่องจากการกินอาหารที่มีสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรคปนเปื้อน เป็นสาเหตุของอาการท้องเดินที่พบได้บ่อยในหมู่คนทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง และทุเลาได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง สามารถให้การดูแลรักษาอย่างง่ายๆ ด้วยการทดแทนน้ำและเกลือแร่ด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ส่วนน้อยที่อาจรุนแรง จนต้องให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ก็ควรแยกแยะสาเหตุจากโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาต่างๆ เพิ่มเติม
อาหารเป็นพิษคืออะไร?
อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) หรือ ลำไส้อักเสบติดเชื้อ (Acute Infectious Diarrhea) เป็นภาวะที่เกิดจากการรับประทานอาหาร ขนม หรือน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่เข้าไป ร่างกายจึงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียตอบสนองออกมา ซึ่งจะเกิดอาการเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน และส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งเชื้อโรคและอาหารที่มักจะพบเชื้อได้มีดังนี้
- Campylobacter: มักพบในเนื้อสัตว์ปีก
- Clostridium botulinum: มักพบในอาหารกระป๋อง อาหารหมัก อาหารที่ถูกเก็บในอุณหภูมิอุ่นๆ เป็นเวลานาน
- Clostridium perfringens: มักพบในเนื้อสัตว์ย่างที่ให้ความร้อนไม่เพียงพอ
- Escherichia coli (E. coli): มักพบในเนื้อวัวดิบ ผักสด นมและน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- Listeria: มักพบในฮอตดอก นมและชีสที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ อาหารทะเลรมควัน
- Noroviruses: มักพบในผักสด ผลไม้สด หอยนางรมสด
- Salmonella: มักพบในเนื้อสัตว์สด ไข่แดงสด
- Staphylococcus aureus: มักพบในอาหารที่เตรียมไว้และไม่ได้รับการปรุงในทันที เช่น เนื้อสไลด์ ครีมซอส สลัด
- Vibrio vulnificus: มักพบในหอยนางรมสด หอยแมลงภู่สด หอยเชลล์สด
เชื้อโรคเหล่านี้จะมีการผลิตสารพิษบางอย่างขึ้นมา แม้อาหารนั้นๆ จะมีการปรุงสุกเรียบร้อยแล้ว แต่สารพิษเหล่านี้มีความสามารถทนทานต่อความร้อนได้ ทำให้ผู้ป่วยที่ทานอาหารจานนั้นเข้าไปเกิดอาการอาหารเป็นพิษในที่สุด
อาการอาหารเป็นพิษ
ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และบางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ร่างกายได้รับเข้าไป ซึ่งอาการจะแสดงหลังจากรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปแล้วประมาณ 2 – 16 ชั่วโมง
อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
หากมีการติดเชื้อรุนแรง ผู้ที่ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง หรือการทำงานของอวัยวะล้มเหลวเฉียบพลัน จนทำให้ร่างกายเกิดการช็อก และร้ายแรงที่สุดก็คืออาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นควรสังเกตอาการของตนเองอยู่ตลอด ถ้ามีอะไรผิดปกติหรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
การรักษาอาหารเป็นพิษ
เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อ จึงเป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งมีแนวทางดังนี้
- หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานยาบรรเทาอาการคลื่นไส้
- หากมีอาการท้องเสีย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป โดยค่อยๆ จิบจนกว่าอาการท้องเสียที่เป็นอยู่จะดีขึ้น
- หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล
ในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในร่างกาย
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป
- จิบเกลือแร่บ่อยๆ จนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
- รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ห้ามรับประทานยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือซื้อมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์
- ห้ามรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่ายเป็นอันขาด
- ไม่ควรรับประทานอาหารหนักๆ จนกว่าอาการปวดท้องหรืออาเจียนจะดีขึ้น
การรับประทานยาฆ่าเชื้อ
สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษ และมีอาการท้องเสียรุนแรง ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือน้ำซาวข้าว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หน้ามืด ปากแห้ง จะได้รับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งตัวยาฆ่าเชื้อที่แพทย์หรือเภสัชกรมักจะให้กลับมารับประทานมีดังนี้
ยาฆ่าเชื้อสำหรับคนทั่วไป
- Norfloxacin
- Ofloxacin
- Ciprofloxacin
ยาฆ่าเชื้อสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
- Co-trimoxazole
- Erythromycin
- Cephalosporin
ผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะเหล่านี้ ต้องรับประทานยาแก้อาหารเป็นพิษตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งอย่างเคร่งครัด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังต้องรับประทานยาให้ครบ ไม่อย่างนั้นอาจทำให้การรักษาในครั้งนั้นๆ ไม่ได้ผลและเชื้อเกิดการดื้อยา ส่งผลให้การรักษาในครั้งต่อไปจำเป็นต้องใช้ตัวยาอื่นที่มีราคาแพงกว่าแทน
การรับประทานยาคลายการบีบตัวของลำไส้
อาการปวดท้องมักจะพบร่วมกับอาการท้องเสีย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยอาหารเป็นพิษมักจะรู้สึกปวดท้องแบบบิดเป็นพักๆ เนื่องจากลำไส้เกิดการบีบตัว แพทย์หรือเภสัชกรจึงมักจะให้ยาคลายการบีบตัวของลำไส้หรือยาแก้ปวดท้องอย่าง Hyoscine (Buscopan) กลับมารับประทาน
การฉีดยาแก้อาเจียนและยาแก้ปวดบิดลำไส้
การฉีดยาให้กับผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา เรียกได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการคลื่นไส้อาเจียนและอาการปวดท้องได้ไวขึ้น ซึ่งหลังจากที่ฉีดยาแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยาต่างๆ ตามอาการ และในกรณีได้รับยาปฏิชีวนะให้รับประทานตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเช่นกัน
การรับประทานคาร์บอน
ผู้ที่ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษอาจจะเคยได้ยินเรื่องการรับประทานคาร์บอนเพื่อรักษาอาการท้องเสียมาบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ว่า คาร์บอนสามารถดูดซับสารพิษได้จริง แต่ถ้าผู้ป่วยต้องการรับประทาน ควรเว้นระยะห่างจากการทานยาชนิดอื่นๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้คาร์บอนไปดูดซับตัวยาที่รับประทานไปก่อนหน้านี้ จนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และถูกสุขอนามัยไม่ได้เป็นเพียงการป้องกันอาการอาหารเป็นพิษเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ร่างกายเราสะอาด ปราศจากสารปนเปื้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ฉะนั้นอย่าลืมทานอาหารกันอย่างละมัดระวัง หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ และดื่มน้ำที่สะอาด