ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ดูจะเป็นโรคที่คนยุคใหม่เป็นกันมากพอสมควร ด้วยพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เราไม่ค่อยเน้นการยืน เดิน เคลื่อนไหว หรือออกแรงเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือก้มดูมือถือนาน ๆ แทน
อาการออฟฟิศซินโดรม เริ่มแรกคือ รู้สึกปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบริเวณหลัง การนวดอาจจะช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะกลับมาเป็นอีก และเป็นเรื้อรังมากขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่มาตรวจหาสาเหตุและทำการรักษา อาจลุกลามจนเป็นโรคไมเกรน หรืออาจเกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่รุนแรงขึ้นตามมาได้
บทความนี้จะพาเราเจาะลึกโรคยอดฮิตชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ อาการ พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ตั้งแต่แนวทางปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมให้เหมาะสม การออกกำลังกาย ไปจนถึงการทำกายภาพบำบัด พร้อมอัปเดตเทคโนโลยีการรักษาล่าสุดที่คุณต้องรู้
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร
ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด รวมถึงอาการปวดหรือชาจากอาการอักเสบจากเนื้อเยื่อและเอ็น มักเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศหรือทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นประจำ
โรคออฟฟิศซินโดรม มีสาเหตุมาจากอะไร
ออฟฟิศซินโดรม มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทาง รวมถึงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การนั่งตัวงอ หรือการก้มหน้านาน ๆ เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำ ๆ มีการหดเกร็ง หรือยืดค้างในรูปแบบเดิมบ่อย ๆ จนกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ เกิดการบาดเจ็บ หรืออาจขมวดเป็นก้อนตึง และเกิดอาการปวดตามมา
กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของเรามีลักษณะเป็นเส้นใยร้อยโยงต่อเนื่องกันหลายส่วน เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มมีการขมวดกันเป็นปมขึ้น ก็ดึงรั้งกันไปมา ตอนแรกอาการปวดตึงอาจจะเริ่มจากจุดหนึ่ง แต่พอนานวันเข้าก็จะร้าวไปปวดอีกจุดหนึ่ง เพราะถูกดึงรั้งจากกล้ามเนื้อส่วนที่หดเกร็ง รู้ตัวอีกทีก็จะปวดเป็นบริเวณกว้าง ๆ ระบุหาตำแหน่งที่ปวดจริง ๆ ไม่ได้เลย
ธรรมชาติของคนทำงานประจำในยุคนี้ มักจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานได้ยาก เพราะต้องโฟกัสกับงานที่ทำ หรือยุ่งจนลืมปรับเปลี่ยนท่าทางและหยุดพัก บ่อยครั้งจึงปล่อยให้อาการของโรคนี้มีอาการหนักมากขึ้น หรือลุกลามไปยังกล้ามเนื้อและระบบประสาทส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรงอีกด้วย
อาการออฟฟิศซินโดรม ที่พบได้บ่อยดังนี้
1. ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด: เป็นกลุ่มอาการยอดฮิตของออฟฟิศซินโดรม โดยจะเริ่มจากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก ส่วนหลัง และสะโพก และมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายขาด
2. เส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ: เกิดขึ้นจากมีพังผืดบริเวณข้อมือ (ด้านฝ่ามือ) ทำให้เส้นประสาทบริเวณนั้นถูกกดทับ เกิดอาการปวดและชาที่นิ้วมือ ฝ่ามือ หรือแขน
3. นิ้วล็อค: เกิดจากการออกแรงที่นิ้วมือมาก ๆ และบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการเสียดสีจนอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเอ็น และเส้นเอ็นของนิ้วมือ มักพบอาการนี้ในกลุ่มคนที่ทำงานเป็นแม่บ้าน
4. เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ: เกิดการบวมหรือเจ็บที่บริเวณเอ็นกล้ามเนื้อ มักเป็นบริเวณหัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า เข่า และข้อมือ ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุ การกระแทก การใช้งานรุนแรง หรือการใช้งานที่บ่อยครั้งเกินไป ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดบริเวณที่มีอาการ
5. อาการตาแห้ง: เกิดจากต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ โดยสาเหตุอาจมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือนานเกินไป
6. อาการปวดตา: เนื่องจากจ้องหน้าจอหรือมือถือนานเกินไปโดยไม่ได้พักสายตา ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง อาการปวดตามักก่อให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้
7.อาการปวดหัว: อาการปวดหัวจากออฟฟิศซินโดรม มักเกิดจากการลุกลามของปัญหากล้ามเนื้อบริเวณบ่าที่ตึง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงส่วนหัวได้สะดวก หรือบางครั้งอาจเกิดจากอาการปวดตาหรือตาแห้ง แล้วร้าวไปถึงหัวได้ บางคนอาจรุนแรงเป็นอาการปวดหัวไมเกรน
8. อาการปวดหลัง: เป็นอาการปวดหลังที่เกิดจากท่ายืนหรือท่านั่งไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือมีการใช้กล้ามเนื้อหลังที่รุนแรงเกินไป จนเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้ ออฟฟิศซินโดรม ยังมีกลุ่มอาการที่เกิดจากส่วนของกระดูกสันหลังมีปัญหา ซึ่งมักจะสัมพันธ์กันกับท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสมของเราด้วย หลาย ๆ ครั้งมักเป็นอาการรุนแรงที่ควรรีบรักษา เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือโรคกระดูกสันหลังคด เป็นต้น
แนวทางการสังเกตอาการโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยตัวเอง
ลักษณะของอาการออฟฟิศซินโดรม สังเกตได้จากอาการปวดที่มีลักษณะเรื้อรัง โดยอาจจะเริ่มจากปวดเบา ๆ ไปจนถึงปวดมาก หรืออาการปวดล้า และปวดร้าวไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการเป็นประจำ ซึ่งอาการปวดเหล่านี้ สามารถเกิดได้หลายส่วนในร่างกาย ได้แก่
- บริเวณส่วนบนของร่างกาย เช่น หัว ดวงตา ท้ายทอย คอ ไหล่ สะบัก นิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก
- บริเวณส่วนหลัง
- ส่วนล่างของร่างกาย เช่น สะโพก ต้นขา เข่า ข้อเท้า
สังเกตว่า ผู้ป่วยมักจะมีอาการบ่อย ๆ หรือเกิดเรื้อรัง บางคนอาจลามไปถึงอาการปวดหัวได้ และหากเป็นมากขึ้น จะไม่สามารถชี้ตำแหน่งที่เป็นได้ชัดเจน เพราะจะรู้สึกปวดเป็นบริเวณกว้าง ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นประสาทส่วนต่าง ๆ ที่รู้สึกปวดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมต่อกัน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเหน็บชา รู้สึกซ่า ๆ ซึ่งเป็นอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ จากโรคออฟฟิศซินโดรม
หากเริ่มพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้บ่อย ๆ หรือมีลักษณะเรื้อรัง เป็นไปได้ว่าเราอาจมีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมเข้าแล้ว ควรปรึกษาแพทย์
ใครมีโอกาสเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้บ้าง
อาการออฟฟิศซินโดรม อาจพบได้ทั้งในคนทำงานแบบใช้แรงเป็นประจำ และคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีโอกาสที่จะทำใช้กล้ามเนื้อในรูปแบบซ้ำ ๆ เป็นประจำ
คนทำงานในออฟฟิศ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะแทบไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรเลย จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ แต่การนั่ง ยืน หรือค้างอยู่ในท่า ๆ หนึ่งนานเกินไป เช่น การก้มหน้าใช้งานมือถือ ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดที่ใช้ในอิริยาบถนั้น ๆ บ่อย ๆ เกิดอาการตึงและปวดตามมาได้
กรณีของผู้ใช้แรงงานเป็นประจำ หรือกลุ่มนักกีฬา อาการทางกล้ามเนื้อหรือกระดูกอาจจะมาจากการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกของผิดท่า การกระชากกล้ามเนื้อเร็วเกินไป การออกแรงมากเกินไป หรือต้องแบกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อหรือกระดูกได้รับบาดเจ็บอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
ต่อไปนี้คือแนวทางการในสำรวจตัวเองง่าย ๆ ว่าเราเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรมหรือไม่?
- เรามีแนวโน้มต้องทำกิจกรรมหรือทำงานลักษณะเดิม ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวันหรือไม่ เช่น
- พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่ค่อยได้ลุกไปไหน
- พนักงานขาย ที่ต้องยืนขายตลอดทั้งวัน (โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง)
- คนขายกาแฟโบราณ ที่ต้องยืนชงกาแฟ โดยออกแรงใช้มือและแขนข้างเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน
- พนักงานขับรถ ที่ต้องนั่งขับรถอยู่เป็นเวลานาน ๆ
- ผู้ที่มีอาการปวด ในช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับเวลาทำงาน และอาการดีขึ้นหรือไม่มีอาการในวันที่หยุดพัก
- ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ เป็นต้น
- มีเวลาพักผ่อนน้อย หรือไม่ได้พักผ่อน
- มี ความเครียด จากการทำงานสูง หรืออยู่ในสภาพสังคมการทำงานที่เป็นพิษ
- ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ พอรักษาหรือยืดกล้ามเนื้อแล้ว อาการก็ดีขึ้นชั่วคราว แต่สักพักก็กลับมาเป็นอีก มักมีอาการบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ ต้นคอ สะบัก ส่วนหลัง
- มีอาการปวดร้าวไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดร้าวไปที่ไหล่หรือแขน ปวดร้าวลงขา สัมพันธ์กับท่าทางของเรา
- ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ทำงานในลักษณะที่ต้องใช้แรงเป็นประจำ เช่น งานแบกหาม งานลาก ยก หรือเข็นวัสดุสิ่งของ
- นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องเล่นกีฬาเป็นประจำ
ใครที่คิดว่าตัวเองอาจเป็นกลุ่มที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรม (หรือรู้ตัวว่าเป็นไปเรียบร้อยแล้ว) ในขั้นแรก อาจลองเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการ แต่หากยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป
แนวทางการรักษาออฟฟิศซินโดรม
หลายคนอาจลองค้นหาวิธีแก้ อาการออฟฟิศซินโดรมด้วยตนเองมาบ้างแล้ว จะพบว่าส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำให้เราเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามมาด้วยท่าบริหารร่างกายเพื่อป้องกันหรือทุเลาอาการ และหากไม่ดีขึ้นจริง ๆ จึงค่อยไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งเมื่อแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะแบ่งเป็น 3 ระยะ
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมที่ได้ผลในระยะสั้น
มักจะเป็นการรักษาหรือการทำท่าบริหารร่างกายอย่างง่าย ช่วยให้อาการทุเลา ไม่เป็นหนักขึ้น มักจะใช้ในการลดอาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า สะบัก หน้าอก ไหล่ แขน และหน้าท้อง ได้แก่
- การยืดกล้ามเนื้อในขณะกำลังทำงานเป็นระยะ ๆ แบ่งเป็นการยืดเพื่อคลายกล้ามเนื้อส่วนบน และกล้ามเนื้อส่วนล่าง โดยมักจะเน้นกล้ามเนื้อที่เกิดอาการปวดบ่อย ๆ ในกลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ
- การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือนวดโดยใช้ครีมแก้ปวด แปะแผ่นเจลประคบ หรือรับประทานยาแก้ปวด
โรคออฟฟิศซินโดรม รักษาที่ต้นเหตุ ได้ผลยั่งยืนกว่า
มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรมว่า หากแก้ไขที่ต้นเหตุได้ จะเป็นผลดีที่สุด โดยสามารถทำได้ดังนี้
1.การปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาพักเป็นระยะ (ข้อแนะนำคือ ทุก ๆ 2 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น) การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวหรือบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หมั่นปรับเปลี่ยนท่าทาง ไม่ค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป
ที่สำคัญควรเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่ความเหมาะสมกับสรีระ ควรปรับระดับของการนั่งที่ถูกต้อง และปรับท่านั่งให้ถูกต้อง คือ นั่งหลังตรง จอคอมพิวเตอร์จะต้องอยู่ในระดับสายตา ไม่ก้มหรือเงย และหัวไหล่ไม่ยกขณะทำงาน
2.การออกกำลังกายเป็นประจำ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ได้แก่
ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งช่วยทำให้การหมุนเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพ กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะมีความแข็งแรงขึ้น ป้องกันเอ็นและข้อยึด เกิดความยืดหยุ่น
ออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยการเสริมสร้างเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของเรา เช่น การหมุน การก้ม-เงย
และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนแกนกลางลำตัว เช่น การออกกำลังกายแบบพิลาทิส จะทำให้ลดโอกาสบาดเจ็บของ กระดูกสันหลัง ซึ่งมักได้รับผลกระทบโดยตรงจากท่านั่งของเรา
ออกกำลังกายแบบยืดเหยียด มีประโยชน์ในการยืดและบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และลดอาการตึงและเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ
สำหรับรายที่มีอาการมาก ๆ แล้ว หรือพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว แต่อาการปวดกล้ามเนื้อยังไม่ดีขึ้น มีอาการปวดเรื้อรัง ปวดจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ มีภาวะแขนขาอ่อนแรง หรือบางราย อาจมีสาเหตุหรือมีภาวะซ่อนเร้นอื่น ๆ ควรเข้ามาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด หากเป็นอาการออฟฟิศซินโดรมจริง ก็ต้องรักษากับแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู