นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในร่างกายคนเราประกอบไปด้วยเซลล์มนุษย์เพียง 43% ส่วนที่เหลือเป็น จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
จุลินทรีย์ทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายของเราเรียกว่า ชีวนิเวศจุลชีพ หรือ ไมโครไบโอม (Microbiome) การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้ กำลังเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจที่เรามีอยู่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตั้งแต่โรคภูมิแพ้ไปจนถึงโรคพาร์กินสัน
ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังทำให้เกิดคำถามว่าแท้จริงแล้ว “มนุษย์” คืออะไร อีกทั้งยังนำไปสู่นวัตกรรมการรักษาโรคแบบใหม่ ๆ ด้วย
ศ.รูธ ลีย์ ผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์ชีวนิเวศจุลชีพแห่งสถาบันแมกซ์ แพลงค์ บอกว่า จุลินทรีย์เหล่านี้สำคัญต่อสุขภาพคุณ “ร่างกายของคุณไม่ได้มีแค่คุณเท่านั้น”
ไม่ว่าคุณจะชำระล้างทำความสะอาดเพียงใด แทบทุกซอกทุกมุมของคุณถูกปกคลุมไปด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งมีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยแหล่งที่มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่มากที่สุดในร่างกายเราก็คือลำไส้
ศ.ร็อบ ไนท์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก บอกบีบีซีว่า “คุณเป็นจุลินทรีย์มากกว่าเป็นมนุษย์”
ก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่า ร่างกายของเราประกอบไปด้วยเซลล์มนุษย์มากกว่าจุลินทรีย์ในสัดส่วน 10 ต่อ 1
แต่ตอนนี้ ศ.ไนท์ ระบุว่า มีการปรับสัดส่วนดังกล่าวมาอยู่ที่ 1 ต่อ 1 ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันประเมินว่า มีเพียง 43% ของเซลล์ในร่างกายเราที่เป็นเซลล์มนุษย์ ส่วนที่เหลือเป็นไมโครไบโอม
แต่หากเปรียบเทียบในแง่ของยีนแล้ว ร่างกายเรายิ่งมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่ามาก โดยมนุษย์มียีนทั้งหมดประมาณ 20,000 ยีน ขณะที่ยีนทั้งหมดของจุลินทรีย์ในร่างกายเรามีอยู่ระหว่าง 2 ล้าน-20 ล้านยีน
ศ.ซาร์คิส แมซมาเนียน นักจุลชีววิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ ในความเห็นของผมคือส่วนผสมกันระหว่างดีเอ็นเอของเราบวกกับดีเอ็นเอของจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา”
ข้อมูลจากเว็บไซต์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การศึกษาไมโครไบโอม ซึ่งเป็นยีนทั้งหมดของจุลินทรีย์ ร่วมกับการศึกษาจีโนม ซึ่งเป็นยีนทั้งหมดของมนุษย์ อาจมีประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสุขภาพของเรา ทั้งในแง่ของการคาดการณ์โรคที่อาจเกิดขึ้น การเลือกวิธี หรือเลือกใช้ยาเพื่อการรักษาที่จำเพาะเจาะจงต่อตัวบุคคลในอนาคต
ขอบคุณสาระดีๆจาก BBC News
2 Responses