กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD) คือ ภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เกิดการไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหาร และอวัยวะทางช่องคอ เกิดการระคายเคือง ซึ่งการที่น้ำย่อยหรือกรด ไหลย้อนกลับขึ้นมานี้ เกิดมาจากหูรูดของหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่กั้นไม่ให้น้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นไป มีการบีบตัวหรือคลายตัวมากกว่าปกตินั่นเอง
โรคกรดไหลย้อน ไม่เพียงแต่สร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็นอย่างเดียว แต่ในกรณีที่รุนแรง อาจจะเกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นแผล ภาวะกลืนลำบาก เลือดออกในหลอดอาหาร ปอดอักเสบ (ในผู้ที่มีการขย้อนน้ำและอาหารขึ้นมาขั้นรุนแรง) ในกรณีที่แย่ที่สุดอาจนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหารได้ อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้สูงอายุ
ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน
- พฤติกรรมการกิน เช่น กินแล้วนอนทันที กินอาหารไม่เป็นเวลา กินแต่อาหารมัน ๆ
- กินอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนกระตุ้นเป็นประจำ เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม รวมไปถึงการสูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคผิวหนังแข็ง
- รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาโรคหอบหืดบางตัว
- มีภาวะเครียด
- ตั้งครรภ์
- ผู้สูงอายุ จะเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากหูรูดหลอดอาหารและเยื่อบุต่าง ๆ จะเสื่อมสภาพลง
อาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างไร?
- แสบร้อนกลางอกหรือบริเวณลิ้นปี่
- รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ และมักเรอมีกลิ่นเปรี้ยวบ่อย
- จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด และมักขย้อนอาหารหรือน้ำขึ้นมาบ่อย ๆ
- กลืนลำบาก คล้ายมีก้อนอยู่ในคอ
- เจ็บคอเกือบตลอดเวลา และในตอนเช้ามักมีเสมหะ
- ในเด็กเล็ก มักอาเจียนบ่อยหลังดูดนม น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย มีการหยุดหายใจขณะหลับ
อาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย
- เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ
- เสียงเปลี่ยนหรือแหบ
- ฟันผุ มีกลิ่นปาก
- พบไซนัสอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หูอักเสบ
- รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
- สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด มีอาการหอบมากขึ้น แม้ใช้ยาก็ไม่ดีขึ้น
วิธีลดภาวะกรดไหลย้อน
นอกจากการใช้ยาแล้วยังมีวิธีอื่นที่จะใช้ลดอาการที่เกิดจากภาวะไหลย้อนได้ โดยการปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารในปริมาณครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนเข้านอน 2 – 3 ชั่วโมง
- นอนให้ศีรษะสูง 6 – 8 นิ้ว โดยใช้ท่อนไม้รองพื้นเตียงบริเวณด้านหัวเตียงที่ศีรษะนอนทับ การใช้หมอนหนุนให้สูงขึ้นจะไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากทำให้ลำตัวพับงอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มช็อกโกแลต กาแฟ อาหารที่มีไขมันหรือกรดสูง น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
- หากอาการไม่รุนแรงนัก การออกกำลังกายโดยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องจะช่วยให้การบีบรัดของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น
กรดไหลย้อน ใครๆ ก็เป็นได้
อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคกรดไหลย้อน มักพบในผู้ที่ทำงานออฟฟิศ เนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แต่ไม่เพียงเท่านั้น โรคกรดไหลย้อนสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ เป็นโรคใกล้ตัวที่ใครๆ ก็เป็นได้ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ มีความเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน
นอกจากการสังเกตอาการของตนเองแล้ว โรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนบางราย อาจมีอาการแสดงอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป อาทิ เจ็บหน้าอก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจซักประวัติและวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร การตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร
One Response