รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ แนะ 5 วิธีรอดชีวิต จาก “สงครามนิวเคลียร์” งานนี้หลุมหลบภัยก็ต้องมี
จากสถานการณ์ความตึงเครียดระดับโลกในยุโรปตอนนี้ โดยเฉพาะที่มีการพูดถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทำให้หลายคนสงสัยถามมาว่าจะต้องรับมือกับกัมมันตภาพรังสีอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นในยุโรป ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ รวมถึงคนไทยเรา คงไม่รอดชีวิตแน่ๆ
แต่ถ้าใช้เพียงจำนวนน้อย หรือเกิดการรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกทำลาย ก็ยังพอที่ประเทศไทยเราจะยังเอาชีวิตรอดกันได้ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงระเบิด แต่น่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อม
โดยฝุ่นที่ปนเปื้อน “กัมมันตภาพรังสี” จาก “สงครามนิวเคลียร์” นั้นสามารถแผ่กระจายไปตามกระแสลมได้เป็นบริเวณกว้าง และสามารถทำให้พืชพรรณธัญญาหารและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ปนเปื้อนและเป็นพิษต่อผู้ที่บริโภคเข้าไป นำไปสู่อาการต่างๆ ขึ้นกับปริมาณของสารรังสีที่ได้รับไป ตั้งแต่การระคายเคือง อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง เม็ดโลหิตขาวลดลง เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิตได้ถ้าได้รับเข้าไปมากๆ
ลองถอดบทเรียนจากตอนที่เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี จากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น มาดูเป็นแนวทางนะครับ
ภัยของสารกัมมันตรังสีนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราอยู่ใกล้ตัวจุดที่เกิดการระเบิดนั้นแค่ไหน ถ้าอยู่เกินรัศมี 30 กิโลเมตร ก็ไม่ต้องกลัวมากจนเกินไป / ถ้าอยู่ในรัศมี 30 กม. อาจได้รับพิษกัมมันตรังสีเข้มข้นแบบเฉียบพลัน มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 50% (ที่รอดตาย ก็จะเป็นโรคมะเร็งได้) / ห่างออกไปจากรัศมี 30 กม. จากการระเบิด กัมมันตภาพรังสีจะลดลงไปตามระยะทางที่ห่างออกไป แต่ก็ยังมีพิษแบบเรื้อรัง
ถ้าอยู่ใกล้กับการระเบิด เราอาจเสียชีวิตจากความร้อน เปลวไฟ และแรงระเบิด ที่ทำลายผิวหนัง เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในได้ / รังสีขนาด 3-4 เกรย์ อาจทำให้ผิวหนังอักเสบ 2-3 สัปดาห์ / รังสีขนาด 100 เกรย์ ทำให้ผิวหนังเน่าเป็นตุ่มนํ้าใน 1-2 สัปดาห์ / หากได้รับรังสีขนาดมากกว่า 30 เกรย์ทั้งร่างกาย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จากภาวะหัวใจล้มเหลวและระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลาย ภายใน 24-72 ชั่วโมง
นอกจากจะได้รับรังสีขนาดสูง จนอาจเกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน (acute radiation syndrome) แล้ว ยังอาจจะมีอาการแบบเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป เพราะได้รับรังสีในปริมาณไม่มาก แต่สามารถทำลายดีเอ็นเอ ทำให้เกิดจากกลายพันธุ์ของยีนและนำไปสู่โรคมะเร็ง
สารกัมมันตรังสีหลายชนิด อาจจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาหาร อากาศ และนํ้าในบริเวณใกล้เคียง ที่พบบ่อยคือสารกัมมันตรังสีของ ไอโอดีน และซีเซียม โดยเฉพาะซีเซียม 137 มีค่าครึ่งอายุมากกว่า 30 ปี
ถ้าเกิดสัมผัสสารกัมมันตรังสี ต้องล้างการปนเปื้อนร่างกาย ถอดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวทั้งหมด ใส่ในถุงที่ปลอดภัยปิดสนิท เพื่อการทำลายอย่างถูกต้อง อาบน้ำชำระล้างร่างกายทั้งหมดให้สะอาดด้วยน้ำเย็นและสบู่อ่อน ถ้ามีบาดแผลต้องชำระล้างให้สะอาด และปิดบาดแผลป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสารรังสีอีก
ถ้าสูดอากาศ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารรังสี ให้ลดการดูดซึมของสารรังสีโดยการแทนที่ด้วยสารอื่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น ถ้าได้รับไอโอดีน-125 หรือ 131 อาจใช้ “ยา SSKI หรือโปแตสเซียมไอโอไดด์” ยับยั้งไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับกับไอโอดีนรังสี (ปรกติแล้ว จะต้องกินก่อนที่จะได้รับรังสีเท่านั้น ถึงจะได้ผล)
แต่โปแตสเซียมไอโอไดด์ จะป้องกันสารกัมมันตรังสีได้แต่ชนิดไอโอดีนเท่านั้น ป้องกันสารกัมมันตรังสีชนิดอื่น อย่างเช่น ซีเซียม-137, ซีเซียม-134 ฯลฯ ไม่ได้ (และห้ามหาซื้อยามากินเองด้วย เพราะมีความเข้มข้นของไอโอดีนสูงมาก ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมา จะมีผลต่อหัวใจและถึงตายได้)
การนำ “เบตาดีน” มาทาคอหรือผิวหนังเพื่อป้องกันรังสีนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องทำ
ถ้ามีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจต้องให้น้ำเกลือทดแทน และให้ยาแก้อาเจียน / ถ้าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ต้องให้ยาลดกรด หรืองดอาหารทางปากชั่วคราว / ถ้าเป็นมาก ต้องเฝ้าระวังภาวะเม็ดเลือดต่ำจากรังสี / ถ้าเม็ดเลือดขาวต่ำ จะติดเชื้อง่าย อาจฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว / ถ้าโลหิตจาง ต้องบำบัดอาการและพิจารณาให้ยาเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดง หรืออาจต้องให้เลือด
การบำบัดรักษาพิษจากรังสีนั้น จริงๆ แล้ว ได้ผลไม่ดีนัก การหลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารกัมมันตรังสีจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภัยจากกัมมันตภาพรังสี
ใช้เครื่องมือตรวจสารกัมมันตรังสี เช่น ตรวจด้วยเครื่องไกเกอร์เคาน์เตอร์ ซึ่งเป็นกล่องมีเข็มวัด และมีกระบอกจี้ไปใกล้บริเวณที่สงสัยเพื่อตรวจสอบ / หรืออาจใช้แผ่นฟิล์มตรวจอย่างง่ายๆ ถ้ามีรังสี ฟิล์มจะเปลี่ยนเป็นสีดำ / รวมไปถึงการใช้เครื่องมือที่เปลี่ยนสี หรือเรืองแสง เวลามีรังสี
ขอแถมด้วยแนวทางสำหรับการเตรียมตัวเรื่อง “หลุมหลบภัยใต้ดิน” ถ้าใครสามารถทำได้ทัน ก่อนที่จะเกิดสงครามที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้น และไทยเราอยู่ในรัศมีของสงครามด้วยจริงๆ
5 ข้อที่ควรเตรียมถ้ามีแนวโน้มจะเกิด “สงครามนิวเคลียร์”
1. เตรียมหลุมหลบภัยใต้ดิน: โอกาสรอดเดียวเมื่อเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น คือ การหลบไปอยู่ในหลุมหลบภัยใต้ดิน ซึ่งควรเตรียมสะสมเสบียงอาหารไว้ด้วย
2. เตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม: ควรเตรียมอาหารแห้งที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูง เช่น พวกข้าว ถั่วทุกชนิด นมผง น้ำผึ้ง ผลไม้และผักอบแห้ง
3. น้ำดื่ม: แหล่งน้ำจืดบนพื้นโลกจะปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี จึงควรกักตุนน้ำจืดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ไว้ที่หลุมหลบภัย ปิดให้สนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสี
4. อุปกรณ์ช่วยชีวิต: ไม่ควรลืมยารักษาโรค ไฟฉาย เทปกาว ถุงดำ มีด ไฟแช็ค และหน้ากากกันแก๊สพิษ
5. ติดตามข่าวสารต่างๆ: มีอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารแบบง่ายๆ (เช่น วิทยุสื่อสาร แบตเตอรี่สำรอง) ที่ทำให้สามารถติดตามข่าวสารจากทางการได้