เนื้อเยื้อ

ปริศนาเรื่องเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งก่อโรคโควิด-19 สามารถเข้าสู่สมองได้อย่างไร ทั้งที่เซลล์สมองแทบจะไม่มีตัวรับ ACE2 ที่ไวรัสใช้ผ่านเข้าสู่เซลล์ร่างกายเลยนั้น ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์เริ่มได้เบาะแสที่ช่วยไขคำตอบแล้ว

ทีมนักวิจัยจากสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ของฝรั่งเศส ตีพิมพ์ผลการค้นพบล่าสุดในวารสาร Science Advances โดยระบุว่าไวรัสโควิดที่เข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อภายในจมูกได้แล้ว สามารถจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างท่อขนาดเล็กระดับนาโน เชื่อมต่อระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อจมูกและเซลล์สมองได้ ซึ่งไวรัสโควิดจะใช้ช่องทางนี้เป็น “อุโมงค์” เพื่อเดินทางผ่านเข้าสู่สมองต่อไป

การค้นพบนี้ช่วยอธิบายสาเหตุของภาวะสมองล้า (brain fog) ซึ่งเป็นความผิดปกติในการใช้ความคิดและความทรงจำหลังล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 ทั้งที่เซลล์สมองนั้นไม่น่าจะติดเชื้อไวรัสโควิดได้เหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะในระบบทางเดินหายใจเช่นปาก จมูก และปอด ซึ่งเต็มไปด้วยตัวรับ ACE2 ที่ไวรัสชื่นชอบ

มีการทดลองนำเซลล์ประสาทชนิดหนึ่ง มาอยู่ร่วมกับเซลล์เนื้อเยื่อบุผนังอวัยวะอีกชนิดหนึ่งในจานทดลอง โดยเซลล์ชนิดหลังได้ติดเชื้อไวรัสโควิดไปแล้ว ผลปรากฏว่าในเวลาไม่นานเซลล์ประสาทได้ติดเชื้อไวรัสโควิดตามไปด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นเมื่อใส่เชื้อไวรัสลงในจานทดลองที่มีแต่เซลล์ประสาทล้วน

เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่องดูในจานทดลองที่เซลล์ทั้งสองประเภทติดเชื้อ ทีมผู้วิจัยพบว่าเซลล์เนื้อเยื่อบุผนังอวัยวะเกิดการสร้างท่อขนาดเล็กระดับนาโนจำนวนมากเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาท ซึ่งไวรัสโควิดใช้ท่อเหล่านี้เป็นเหมือนกับอุโมงค์ผ่านเข้าสู่เซลล์ประสาทได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องอาศัยตัวรับ ACE2 เหมือนในกรณีการติดเชื้อทั่วไปเลย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดสอบยืนยันกระบวนการดังกล่าวในร่างกายของมนุษย์อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าการติดเชื้อโควิดในสมองมาจากกระบวนการนี้จริง ซึ่งหากได้รับการยืนยันแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะสามารถคิดค้นยาหรือโมเลกุลที่ระงับการสร้างอุโมงค์เชื่อมต่อเซลล์ดังกล่าว เพื่อสกัดการเข้าสู่สมองของไวรัสโควิดได้ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *