วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่อาจไม่ได้ให้ผลในการป้องกัน 100% เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและร่างกายของแต่ละบุคคล โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อนั้นแล้วแต่ประเภทของวัคซีน แต่คุณสมบัติสำคัญของวัคซีน COVID-19 ทุกตัวสามารถลดความรุนแรงของการป่วยหลังการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ดังนั้นเพื่อให้การรับวัคซีนได้ประโยชน์และป้องกันหรือลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เราจำเป็นจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนทั้งก่อนฉีด ระหว่างฉีด และหลังการฉีดวัคซีน โควิด ดังนี้
ขั้นตอนดูแลตัวเองก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ มียาประจำที่ต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ และงดครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พักผ่อนให้เพียงพอ หากเจ็บป่วย มีไข้/ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
- รับประทานอาหารให้เรียบร้อยอย่าปล่อยให้ท้องว่าง
- ถ้าใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่/แพทย์ก่อนทำการฉีดวัคซีน
- กรณีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้
ขั้นตอนดูแลตัวเองระหว่างเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19
- เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน ข้อมูลการลงทะเบียน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
- มาก่อนเวลานัดฉีดวัคซีน โควิด 30 นาที
- ใส่เสื้อผ้าที่หลวม สบาย สามารถเปิดหัวไหล่ได้สะดวก เพื่อง่ายต่อการฉีดวัคซีน
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
- ก่อนรับวัคซีน ไม่จำเป็นต้องหยุดยาใดๆ หรือกินยาอื่นๆ นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์
- แนะนำให้ฉีดวัคซีนแขนข้างที่ไม่ถนัด และงดใช้แขนหรือเกร็งแขนข้างที่ฉีดวัคซีน
- ปฏิบัติตามคำแนะของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ขั้นตอนดูแลตัวเองหลังรับการฉีดวัคซีน COVID-19
- สังเกตอาการที่จุดฉีดวัคซีน 30 นาทีอย่างเคร่งครัด อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- อาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 3 วัน เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ หรือปวด บวม แดง คันหรือช้ำบริเวณที่ฉีดวัคซีน อาจมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรือมีอาการชาเฉพาะที่ร่วมด้วย
- อาการรุนแรง พบได้ไม่บ่อยหรือพบได้น้อย เช่น มีก้อนบริเวณที่ฉีดยา เวียนศีรษะ มึนงง ใจสั่น ปวดท้อง อาเจียน ความอยากอาหารลดลง เหงื่อออกมากผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชักหมดสติ อาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล
- อาการแพ้วัคซีน เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ความดันตก หลอดลมตีบ หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว หากพบว่ามีอาการรุนแรง หลังการฉีดวัคซีนควรรีบพบแพทย์ทันที่
- พยายามอย่าเกร็งแขนข้างที่ฉีดวัคซีน หรือใช้แขนยกของหนัก อย่างน้อย 2 วัน
- ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมาก สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด และรับประทานซ้ำได้โดยห่างกัน 6 ชั่วโมง (ห้ามรับประทานยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด)
- เมื่อพักรอดูอาการเรียบร้อย หากกลับบ้านแล้วยังต้องสังเกตอาการของตัวท่านเองต่ออีก 48-72 ชั่วโมง หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น ชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่อไปอย่างเคร่งครัด ห้ามประมาทอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ทางเราอยากให้ทุกท่านดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี ปลอดเชื้อ COVID-19
4 Responses