
อาจจะเคยมีใครได้ยินเรื่องที่ว่าห้ามบี้ตัว เห็บ ให้แตก เพราะอาจทำให้ไข่เห็บในตัวแตกแพร่กระจายออกลูกออกหลานเป็นเห็บตัวเล็กๆ มากมายได้ ความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร และการบี้ตัวเห็บให้แตกอันตรายหรือไม่ มีคำตอบจาก อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากกัน
เห็บ สุนัข ห้ามบี้เพราะมันมีไข่ และมันจะขยายตัวเติบโตขึ้นมากันอีก เรื่องนี้จริงหรือไม่

ไม่จริง ที่ห้ามบี้เห็บที่เก็บจากตัวของสุนัข ก็เพราะว่ามันสกปรก มีเชื้อโรค แต่ไม่ใช่ว่ามันจะมีไข่ออกมา แล้วจะมาเติบโตนอกร่างกายเห็บได้
รู้จัก “เห็บ” ที่พบได้ในขนสัตว์เลี้ยง

เห็บ (tick) ที่พบในไทยเรา มักจะเป็นสปีชีส์ Rhipicephalus sanguineus หรือ เห็บสุนัขสีน้ำตาล (brown dog tick) กินเลือดเป็นอาหาร ชอบอาศัยบนตัวสุนัข แต่ก็สามารถกัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น รวมถึงคนได้
อันตรายของเห็บ

การที่สุนัขติดเห็บ โดนเห็บกัด และถ้าเห็บตัวนั้นมีเชื้อโรคในปริมาณที่มากพอ ก็สามารถทำให้สุนัขของเราป่วยเป็นโรคที่นำโดยเห็บได้ รวมถึงคนเราก็สามารถติดโรคจากเห็บได้ด้วย
โรคติดเชื้อจากเห็บ ที่สำคัญในสุนัข ได้แก่
- โรคพยาธิเม็ดเลือด ที่ทำให้เกิดอาการซึม ไม่กินอาหาร
- เยื่อเมือก เช่น เหงือก มีสีซีดจากภาวะโลหิตจาง
- ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลจากเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลาย
อาจมีอาการรุนแรง เช่น อาการทางระบบประสาท ภาวะไตวายเฉียบพลัน จนถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้
โรคในคนที่นำโดยเห็บ ได้แก่
- โรคลายม์ (Lyme Disease)
- โรคไข้เห็บ (Ehrlichiosis)
- โรคทูลาริเมีย (Tularemia)
อาการเมื่อโดนเห็บกัด
ผู้ที่โดนเห็บกัดมักมีอาการที่ผิวหนังเช่น
- จุดเลือด
- แดง
- คัน
- อาจมีอาการแพ้ มีผื่นขึ้น เป็นแผลพุพอง
- หายใจติดขัดในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงได้
ในตัวเห็บ มีไข่เห็บอยู่หรือไม่
เห็บสุนัขสีน้ำตาล มี 8 ขา ลำตัวแบน แต่เมื่อกินเลือดตัวจะพองขึ้น มีขนาดต่างกันไปตามระยะของวงจรชีวิต ตั้งแต่ตัวเล็กๆ เท่าหัวเข็ม จนถึงตัวที่กินเลือดเข้าไป จนตัวเต่งเหมือนลูกเกด
โดยทั่วไป วงจรชีวิตของเห็บสุนัขสีน้ำตาล จะเริ่มจากไข่ (egg) แล้วฟักเป็นตัวอ่อน (larva) กินเลือดบนตัวสุนัขเป็นเวลา 5-15 วัน แล้วกระโดดออกจากสุนัข มาเติบโตลอกคราบในสิ่งแวดล้อม จนเป็นตัวอ่อนแบบนิมฟ์ (nymph) ก่อนที่จะกลับขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขต่อ อีก 3-13 วัน แล้วกระโดดออกมาโตลอกคราบในสิ่งแวดล้อมอีก จนกลายเป็นตัวเต็มวัย (adult)
ตอนเป็นตัวเต็มวัย มันจะกลับไปอาศัยกินเลือดบนตัวสุนัข โดยเห็บตัวเมียและเห็บตัวผู้จะผสมพันธุ์กัน แล้วเห็บตัวเมียจะกินเลือดจนอิ่ม ตัวใหญ่อ้วนกลม ก่อนที่เห็บตัวเมียจะลงจากตัวสุนัขเพื่อไปวางไข่ในสิ่งแวดล้อม
เห็บตัวเมียจะใช้เวลาวางไข่ประมาณ 15-18 วัน สามารถวางไข่ได้เฉลี่ยประมาณ 4,000 ฟอง แล้วเห็บตัวแม่นั้นจะแห้งตาย ไข่ของเห็บจะถูกปกป้องด้วยของเหลวคล้ายขี้ผึ้ง (ที่เห็บตัวเมียผลิตขึ้นมา) ใช้เวลาประมาณ 6-23 วัน จึงจะฟักออกเป็นตัวอ่อนอีกครั้ง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การที่จะพบเห็บตัวเมียที่มีไข่อยู่ในท้องแล้ว จากบนตัวของสุนัขนั้น จะมีโอกาสน้อยมาก เพราะตัวเมียต้องลงจากตัวสุนัข มาอยู่ในสิ่งแวดล้อม และใช้เวลาในการสร้างไข่ขึ้นมาในท้อง
หรือถ้าบังเอิญเราได้บี้เห็บตัวเมียที่มีไข่ในตัวอยู่จริง โอกาสที่ไข่เหล่านั้นจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนเห็บได้ ก็น้อยมากเช่นกัน เพราะไม่มีสารห่อหุ้มไข่ที่คอยปกป้องไข่จากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
สรุปได้ว่า การบี้เห็บ จึงไม่ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ต่อของเห็บเพิ่มมากขึ้น
การบี้เห็บ อันตรายหรือไม่ ควรกำจัดเห็บอย่างไรถึงจะหลอดภัย

แต่การบี้เห็บ หลังจากดึงออกจากสุนัขแล้วนั้น ก็ไม่ควรกระทำ เพราะจะก็ทำให้เกิดความสกปรก และอาจแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อยู่ในตัวเห็บ โดยเฉพาะเชื้อโรคหลายชนิดที่เจริญอยู่ในต่อมน้ำลายของเห็บ
หากต้องการกำจัดเห็บที่ดึงออกมา สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่หย่อนเห็บลงไปในขวดที่ใส่น้ำเปล่าแล้วปิดฝา ไม่นานเห็บเหล่านี้ก็จะตายไป
นอกจากการกำจัดเห็บสุนัขด้วยการดึงออกแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ยาเพื่อใช้ในการกำจัดเห็บที่อยู่บนตัวสุนัขอีกหลายรูปแบบ เช่น ยาหยดหลังสุนัข ยากิน ปลอกคอ หรือแชมพูสำหรับอาบน้ำ เป็นต้น
ส่วนการกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการกำจัดเห็บที่อยู่บนตัวสุนัขนั้น เจ้าของสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่สามารถฆ่าตัวอ่อน ไข่ และตัวเต็มวัยของเห็บได้ มาทำความสะอาดบริเวณบ้านและบริเวณที่นอนของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาถูพื้น น้ำยาที่สามารถใช้ราดพื้น หรือฉีดพ่นในซอกมุมต่างๆ ของบ้านที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งที่อยู่ของเห็บได้ หรือการซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก