เราเชื่อว่าทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ เลือดกำเดาไหล กันอย่างน้อยคนละ 1 ครั้งในชีวิต หรือต่อให้จะยังไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็น่าจะเคยพบเห็น หรือเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่มีเพื่อนหรือคนใกล้ตัวจู่ๆ เกิดเลือดกำเดาไหลกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเลือดกำเดาไหลนั้นเป็นเพียงแค่อาการผิดปกติธรรมดาๆ ที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตก จากการแคะจมูก หรืออุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้น แต่ความจริงที่ทุกคนอาจเผลอลืมไปหรือไม่เคยรู้มาก่อนนั่นก็คือ เลือดกำเดาไหล ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่บอกเราได้ว่า เราอาจกำลังจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงอยู่ก็ได้ ดังนั้นการทำความรู้จักกับอาการเลือดกำเดาไหลให้ลึกซึ้งมากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เราประเมินอาการและความเสี่ยงของโรคภัยได้อย่างเท่าทัน
เลือดกำเดาไหลคืออะไร ทำความเข้าใจให้รู้เท่าทัน?
“เลือดกำเดาไหล” หรือ “Epistaxis” เป็นภาวะเลือดออกทางจมูก ที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า ซึ่งมักจะไม่ค่อยรุนแรง และภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดที่ใหญ่กว่าด้านหน้า จึงทำให้มีอาการรุนแรงกว่า มีเลือดออกปริมาณมากกว่า และสามารถทำให้มีเลือดออกทางปากได้ด้วย คือถ้าคนไข้ไม่รู้ตัวว่ามีเลือดออกทางโพรงจมูกด้านหลัง ก็จะกลืนลงไป และส่งผลทำให้มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ้าลงปอด ก็อาจมาด้วยอาการไอเป็นเลือดได้ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะเลือดออกทางจมูกที่มาจากด้านหลังโพรงจมูก มักมีสาเหตุมาจากอันตรายที่ร้ายแรงกว่าภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า
เลือดกำเดาไหล เพราะสาเหตุใด
สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลนั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ภาวะโรคในจมูก และ ภาวะร่างกายที่ผิดปกติ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- เลือดกำเดาไหลเพราะภาวะโรคในจมูก คือ อาจเกิดจากการที่ “มีก้อนในจมูก” หรือ “ก้อนเนื้องอกบริเวณหลังโพรงจมูก” รวมถึงการติดเชื้อต่างๆ ที่ทำให้มีแรงดันขึ้นไปทำให้เกิดอาการคัดจมูกหรือจาม จนเส้นเลือดฝอยแตก และเกิดเป็นเลือดกำเดาไหลออกมา หรืออาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ ถูกกระแทกจนกระดูกหัก ผนังจมูกคด ก็ทำให้เลือดกำเดาไหลได้ รวมถึงการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์รักษาภูมิแพ้ ถ้าพ่นไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ผนังจมูกบางและเป็นเหตุให้เลือดออกได้เช่นกัน
- เลือดกำเดาไหลเพราะความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคเลือดที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดออกง่าย หยุดยาก โดยมักจะเป็นตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุจมูก หรือว่าไรฟัน รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คนที่เป็นโรคตับหรือคนที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดต่างๆ ก็มีโอกาสเลือดกำเดาออกได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป
ทั้งนี้เส้นเลือดฝอยในจมูกแตกจน เลือดกำเดาไหลนั้น ถือเป็นปลายเหตุที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกและเลือดออก ซึ่งสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งมีก้อนที่จมูก หรือมีปัญหาโรคเลือดก็ได้ ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุให้พบ เพราะปกติเส้นเลือดคนเรานั้นจะไม่แตกง่ายๆ ยกเว้นแต่มีสาเหตุกระตุ้นให้แตก เช่น ไปกระแทก เกิดอุบัติเหตุ หรือขาดวิตามินต่างๆ อย่างวิตามินเค ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดแตกได้ง่าย
สัญญาณเตือนจากเลือดกำเดาไหล
1. เนื้องอก
สาเหตุ : มะเร็ง หรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง เกิดขึ้นในจมูก ไซนัส หรือหลังโพรงจมูก
อาการ : เลือดออกเป็นบางครั้ง หรือเลือดออกจมูกปริมาณมากควรส่องกล้องตรวจโพรงจมูก หรือเอกซเรย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
2. การระคายเคือง หรือบาดเจ็บในจมูก
สาเหตุ : แคะจมูกบ่อย ได้รับแรงกระแทกที่จมูก สั่งน้ำมูกแรง ๆ อากาศแห้งความกดอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ขึ้นเครื่องบิน
อาการ : เลือดมักออกไม่มาก และเป็นระยะเวลาสั้น ๆ อาจมีเลือดออกช้ำในช่วงที่ใกล้หาย
3. การอักเสบในโพรงจมูก
สาเหตุ : จากการติดเชื้อไวรัส ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ใช้เครื่องอัดอากาศขณะนอนหลับ
อาการ : มีเลือดออกปนมากับน้ำมูก
4. ความผิดปกติทางกายวิภาค
สาเหตุ : ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอกผิดที่ รวมถึงมีรูทะลุทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศ
อาการ : เลือดมักไหลในจมูกข้างเดิม และเป็นซ้ำในจุดที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือมีกระดูกงอก เยี่ยมชมพันธมิตรของเรา,shoes – ผู้นำด้านรองเท้าแฟชั่น!
เลือดกำเดาไหลควรก้มหน้าหรือเงยหน้า
เวลาเลือดกำเดาไหล หลายคนมักจะรีบเงยหน้าขึ้นทันที เพื่อหวังจะให้เลือดหยุดไหล แต่รู้หรือไม่ว่า การทำแบบนั้นนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าจมูก และอาจจะสำลัก หรืออาเจียน หรืออาจเกิดอันตรายอื่นๆ ตามมาได้ เพราะฉะนั้นแล้ว…ขอให้ลืมไปเลยว่าเวลาเลือดกำเดาไหลให้เงยหน้า…เพราะนั่นถือเป็นความเชื่อที่ผิด สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Academy of Family Medicine หรือ AAFP กล่าวว่า วิธีการรักษาที่ดีที่สุด คือ การนั่งเอนตัวหรือก้มศีรษะไปข้างหน้าเพื่อช่วยให้เลือดไหลออกจากจมูก และทำให้เลือดไม่ถูกเก็บกักไว้หรือไหลลงสู่หลอดอาหาร
ดังนั้นจึงเป็นอันสรุปได้ว่า สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดเลือดกำเดาไหล คือ การก้มหน้า แล้วค่อย ๆ นั่งลง จากนั้นจึงเริ่มการปฐมพยาบาลตามขั้นตอนที่ถูกต้องต่อไป
เลือดกำเดาไหล ปฐมพยาบาล ยังไง?
1. บีบจมูกให้เลือดหยุดไหล
เมื่อเลือดกำเดาไหล ให้เราหยุดทำกิจกรรมทุกสิ่ง แล้วมานั่งนิ่ง ๆ โดยโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย (ห้ามยืนนะครับ) จากนั้นให้ใช้มือบีบที่บริเวณรูจมูกค้างไว้ประมาณ 5 นาที ในระหว่างนี้ให้เราหายใจทางปากแทนก่อน ซึ่งข้อควรระวังคือ ห้ามแหงนหน้าเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดไหลกลับลงเข้าคอ และทำให้สำลักหรืออาเจียนได้
2. ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบจมูก
การใช้น้ำแข็งที่มีคุณสมบัติเย็นประคบบริเวณจมูก จะช่วยทำให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหลได้เร็วยิ่งขึ้น โดยจะทำในขณะที่เอามือบีบจมูกให้เลือดหยุดไหล
3. ทำความสะอาดจมูกหลัง
หลังจากเลือดหยุดไหลแล้ว ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดคราบเลือด บริเวณรอบจมูกและปาก หลังจากเลือดหยุดไหลแล้ว ห้ามสั่งน้ำมูกแรง ๆ ล้วง เกา แคะจมูกเด็ดขาด! เพราะอาจทำให้จมูกสะเทือนจนเลือดกำเดากลับมาไหลอีกครั้ง
4. เลือดกำเดาไม่หยุดไหลให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
เมื่อทำตามขั้นตอนข้างต้น แล้วเลือดยังไหลไม่หยุด ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะถ้าเลือดไหลออกจำนวนมากเกินไปอาจเป็นอันตรายได้
เลือดกำเดาไหลแบบไหน เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าต้องไปพบแพทย์
วิธีการสังเกตอาการเลือดกำเดาไหล ว่าเป็นอันตรายร้ายแรงหรือไม่มากแค่ไหน สามารถสังเกตได้จากลักษณะการไหลและสีของเลือดที่ไหลออกมา โดยหาพบว่ามีอาการเลือดกำเดาไหลในลักษณะดังต่อไปนี้ การรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยคือหนทางที่ดีที่สุด
- เลือดกำเดาไหลบ่อย ไหลซ้ำบริเวณรูจมูกข้างเดิมข้างเดียวตลอด
- เลือดกำเดาไหลปริมาณมาก แม้จะเป็นครั้งเดียวแต่ก็ควรไปพบแพทย์
- เลือดกำเดาไหลในลักษณะเป็นก้อนลิ่มเลือด
- เลือดกำเดาไหลนานต่อเนื่องไม่หยุดภายใน 10 นาที
- สีของเลือดกำเดาถ้าเป็นสีแดงสด จะรุนแรงน้อยกว่าสีชมพูจางๆ
- เลือดกำเดาไหลร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก หูอื้อ รู้สึกมีก้อนในโพรงจมูกหรือที่คอ
หากเลือดกำเดาไหลเล็กน้อย หรือนาน ๆ ไหลที อาจเกิดจากเลือดออกจากบริเวณจมูกด้านหน้า ซึ่งไม่ได้เป็นอันตรายอะไรมาก แต่สิ่งที่ควรระวังคือ เลือดออกจากด้านหลังโพรงจมูก เพราะเลือดจะออกมาเป็นจำนวนมากเนื่องจากหลอดเส้นเลือดจะใหญ่กว่า ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เลือดออกมาทางปากด้วย
อาการเลือดกำเดาไหลมักหายเองได้เป็นปกติ แต่ถ้าเลือดกำเดาไหลบ่อย แล้วไม่มีท่าว่าจะหยุดไหล หรือออกมาเป็นลิ่มเลือดที่รูจมูกข้างเดียวตลอด ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคเนื้องอกในโพรงจมูก โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก วัณโรค เป็นต้น เมื่อไปพบแพทย์ ทางแพทย์จะวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการเลือดกำเดาไหลต่อไป
เมื่อคุณเลือดกำเดาไหล อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกวิธี ก็อาจเป็นอันตรายกับคุณได้เช่นกัน