พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จากเพจ Pleasehealth Books ระบุว่า ปัญหา อิ่มเร็ว กินนิดหน่อยก็อิ่ม กินได้น้อย จนเกิดปัญหาน้ำหนักลด หรือผอมเกินไป บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ง่าย อาหารไม่ค่อยย่อยร่วมด้วย
อิ่มเร็ว อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
ภาวะอิ่มง่ายกว่าปกตินี้ มีชื่อเรียกว่า Early Satiety เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ภาวะกล้ามเนื้อกระเพาะทำงานน้อยลง (Gastroparesis) ทำให้อาหารตกค้าง การย่อยอาหารมีปัญหา มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน
- โรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน
- โรคของสมอง เช่น พาร์กินสัน
- โรคทางจิตเวช เช่น อะโนเร็กเซีย ซึมเศร้า ไบโพลาร์
- มะเร็งบางชนิด
- มีน้ำในช่องท้อง หรือ ท้องมาน
วิธีแก้ปัญหาอาการอิ่มเร็ว
สำหรับการดูแลแก้ไขปัญหาอิ่มเร็วจนผอม ในเบื้องต้นทำได้โดย
- แบ่งทานมื้อเล็ก หลายๆมื้อ
- ลองทานอาหารเมนูแปลกใหม่ ลดความจำเจ
- เสริมอาหารปั่น สมูทตี้ โปรตีนเชค ระหว่างมื้อหลัก
- เลี่ยงอาหารมันๆ อาหารไขมันสูง ซึ่งย่อยยาก
หากดูแลเบื้องต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ทานได้น้อยจนน้ำหนักตัวลดเกินเกณฑ์ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งก็จะมีทั้งยารับประทานเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร ยาช่วยย่อย รวมถึงยาและวิธีการอื่นๆ
น้ำหนักตัว ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่การมีน้ำหนักมากเกินไป หรือน้อยเกินเกณฑ์ อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพโดยรวมในระยะยาวได้ และควรให้ความสนใจแก้ไขโดยเร็ว
อิ่มเร็ว คล้ายเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ความจริงต้องไม่นิ่งนอนใจ
อาการอิ่มเร็วมีความคล้ายคลึงกับอาการอื่นๆ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง และเบื่ออาหาร แพทย์จึงต้องซักถามประวัติสุขภาพ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดและวัดน้ำตาลในเลือดเป็นอันดับแรก หากพบอาการอื่นร่วมด้วย แพทย์อาจจัดการทดสอบเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- Upper Gastrointestinal Series (UGI) เพื่อตรวจหาสัญญาณของภาวะกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานน้อยลงด้วยการเอกซเรย์
- การส่องกล้องกระเพาะอาหารส่วนต้น (Upper Endoscopy) เพื่อตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไป
- การสแกนอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อตรวจอวัยวะต่างๆ ในท้อง
- การตรวจอุจจาระเพื่อหาภาวะเลือดออกในลำไส้
- Gastric Emptying Scintigraphy เพื่อติดตามว่าอาหารออกจากกระเพาะไปยังลำไส้ได้เร็วเพียงไหน
- SmartPill เพื่อดูว่าอาหารแล่นผ่านระบบย่อยได้เร็วเพียงไหน
- การทดสอบ Gastric Emptying Breath เพื่อคำนวณว่ากระเพาะอาหารใช้เวลากำจัดอาหารได้เร็วเพียงใด
อิ่มเร็ว แก้ได้อย่างไรบ้าง?
การรักษาอาการอิ่มเร็วจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารให้มากขึ้น ด้วยการรับประทานมื้อเล็กลงแต่บ่อยครั้งในแต่ละวัน
- ลดปริมาณใยอาหารและไขมันที่รับประทานเข้าไป เพราะอาจเป็นสิ่งที่ชะลอกระบวนการย่อย
- รับประทานอาหารเหลวให้มากขึ้น
- รับประทานของที่กระตุ้นความอยากอาหาร
- รับประทานยาบรรเทาอาการไม่สบายท้อง เช่น Metoclopramide Antiemetics หรือ Erythromycin
หากอาการอิ่มเร็วที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดเล็กต่างๆ เช่น
- การกระตุ้นกระเพาะอาหารด้วยไฟฟ้า (Gastric Electrical Stimulation) ที่จะส่งแรงกระตุ้นทางไฟฟ้าไปยังกระเพาะอาหารเพื่อควบคุมอาการคลื่นไส้อาเจียน
- การป้อนอาหารเหลวทางสายยาง จากจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร
- Total Parenteral Nutrition (TPN) กระบวนการที่ใช้สายสวนแทงเข้าไปในหลอดเลือดดำที่หน้าอกเพื่อฉีดสารอาหารเหลวเข้าไป
- Jejunostomy การสอดท่อส่งอาหารข้ามกระเพาะอาหารออกไปด้วยการฉีดสารอาหารเข้าไปในส่วน Jejunum ของลำไส้เล็ก (สำหรับกรณีที่เป็นรุนแรงมาก)