สุขภาพจิต

จิตบําบัด บริหารสุขภาพจิต

● จิตบำบัด เป็นคำที่แปลมาอีกทีจากภาษาอังกฤษคำว่า Psychotherapy ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโดยการปรับสุขภาพจิตใจให้ดีขึ้นจากการพูดคุย ปรึกษา และค้นหาต้นตอทางความรู้สึกลึกๆ ที่อยู่ภายในจิตใจ

● อาชีพที่ทำหน้าที่ช่วยบำบัดทางจิตได้มีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์, นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ รวมไปถึงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่เรียนศาสตร์ด้านจิตบำบัดมาโดยตรง นอกจากนี้ยังมีตัวช่วยอื่นๆ เช่น ศาสนา, ความเชื่อ ฯลฯ ซึ่งสามารถใช้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจให้กลับมาดีขึ้นได้เช่นกัน

● แต่การเปลี่ยนแปลงทางใจที่ดีที่สุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร มันขึ้นอยู่กับตัวเราว่า มีความพร้อมที่จะรับฟังและยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหนก็เท่านั้นเอง

ในโลกใบนี้ มี How to ที่นำไปสู่หนทางแห่งความสุขมากมาย แต่จะมีสักกี่คนที่นำหลักปฏิบัติเหล่านั้นมาปรับใช้ให้สุขภาพจิตกลับมาแข็งแรงและพร้อมที่จะต่อสู่กับปัญหาต่างๆ ในวันถัดไปได้ด้วยตัวเอง?

คุณเอ๋ (นิ้วกลม) และนพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จึงจะมาร่วมพูดคุยและแบ่งปันวิธีการฝ่าฟันปัญหา เพื่อลดความรุนแรงของประสบการณ์ร้ายๆ ที่ทำลายสภาพจิตใจ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามด้วยตัวเองทั้งหมด ในหัวข้อ “เมื่อปัญหาทำร้ายใจจะพูดคุยกับใครดี”

มาดูกันดีกว่าว่า จะมีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยกอบกู้สุขภาพจิตใจที่ย่ำแย่ให้กลับมาสดใส และจะมีใครที่เราจะสามารถนำเรื่องทุกข์ใจเข้าไปปรึกษาได้บ้าง

สุขภาพจิต จิตบำบัด ที่ดีหาได้จากที่ไหนในโลกใบนี้

เรียกว่าเป็นปริศนาของโลกใบนี้เลยก็ว่าได้กับการตามหาความสุขที่หายไปของคนสมัยนี้ที่มีแต่เรื่องยุ่งเหยิงเข้ามารบกวนจิตใจ จนหลายคนต้องตกลงสู่ภาวะของการเป็นโรคทางจิตใจ อย่างเช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล เป็นต้น

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความสุขที่ตามหานั้นไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่เนื่องจากสมองของคนเราคิดไปแล้วว่า ชีวิตนี้หาความสุขและความสบายใจให้กับตัวเองไม่ได้ ทำให้ใช้เวลาจำนวนมากในแต่ละวันไปการจมอยู่กับมุมมองเดิมๆ แบบซ้ำๆ ซึ่งเป็นเหมือนเขาวงกตที่ไร้ทางออก

ซึ่งการจะทำลายความคิดในแง่ลบที่เกิดขึ้นนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะเรากำลังถูกครอบงำด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่จมดิ่ง ดังนั้น การเติมข้อมูลใหม่ๆ หรือความรู้สึกใหม่ๆ จากบุคคลที่ 3 จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

เพราะพวกเขาเหล่านั้นมักจะมองเห็นตัวตนของเรา และทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนที่ช่วยยกระดับสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่งจากการสนทนาเพื่อให้คำปรึกษา หรือจากการได้ระบายความทุกข์ ซึ่งการที่มีคนรับฟังอยู่ตลอดเวลาจะทำให้เราสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้โดยไม่รู้สึกถึงความโดดเดี่ยวอีกต่อไป

ผู้รับฟังที่ดีจะเป็นใครได้บ้าง – บริหารสุขภาพจิต ด้วยจิตบำบัด

ไม่ได้หมายความว่า บุคคลที่ 3 ทุกคนจะสามารถทำหน้าที่เป็นกระจก หรือทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นได้ แต่จะต้องเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังคิดมากพอ ซึ่งถ้าเราเลือกผู้รับฟังปัญหาเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานแพทย์ด้านจิตใจอย่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดได้เลยก็จะยิ่งส่งผลดี

เนื่องจากบุคคลในกลุ่มสายอาชีพนี้ได้ศึกษากลไกลทางจิตวิทยามาแล้ว ทำให้มีชุดคำอธิบานที่เป็นแบบแผน รวมถึงยังมีเทคนิคการรักษาที่หลากหลาย ทำให้มองเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนได้มากกว่าคนทั่วไป

ส่วนการนำปัญหาไปปรึกษากับคนรอบข้างก็สามารถทำได้ แต่จะเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาในระดับเบื้องต้น ซึ่งต้องการกำลังใจหรือคำปลอบใจที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นเพื่อลดระดับความเครียด แต่ถ้าการระบายให้คนรอบ

ข้างฟังยังไม่สามารถเยี่ยวยาสุขภาพจิตใจได้ การเข้าพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาดูจะเป็นวิธีการที่ทำให้ความสับสนในจิตใจค่อยๆ ผ่อนคลายลงได้เร็วยิ่งขึ้น

ความแตกต่างระหว่าง ‘จิตบำบัด’ กับ ‘จิตแพทย์’

สำหรับสายงานในด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาด้านจิตใจ จริงๆ แล้วจิตบำบัดมีหลากหลายสาขาวิชาชีพด้วยกัน แต่ 2 อาชีพที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ นั้นจะเป็นสาขาจิตแพทย์ และนักจิตบำบัด ซึ่งก็สร้างความสับสนให้กับหลายคนอยู่ไม่น้อยว่า หากมีอาการป่วยหรือรู้สึกไม่สบายใจในแบบที่เป็นอยู่นี้ควรจะเข้าไปพบใครถึงจะตอบโจทย์กับอาการที่เราเป็นได้มากที่สุด

บริหารสุขภาพจิต​ ด้วยจิตบำบัด ทำความรู้จักสายงานด้านนักจิตบำบัด

คำว่า จิตบำบัด’ เป็นคำที่แปลมาอีกทีจากภาษาอังกฤษคำว่า Psychotherapy ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโดยการปรับสุขภาพจิตใจให้ดีขึ้นจากการพูดคุย ปรึกษา และค้นหาต้นตอทางความรู้สึกลึกๆ ที่อยู่ภายในจิตใจ จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีความกังวล หรือไม่ได้มีอาการขั้นรุนแรงมาก

เช่น ถ้าหากเครียดเรื่องเงินแล้วการเข้ามาปรึกษากับนักจิตบำบัดจะไม่ได้มานั่งพูดคุยกันว่า เราจะสามารถหาเงินพวกนั้นมาได้อย่างไร แต่จะเป็นการชวนให้มองย้อนกลับไปยังความทุกข์ที่มีอยู่ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร ให้รู้ตัวว่ากำลังคิดอะไรอยู่ และจะจัดการกับความรู้สึกแบบนี้อย่างไร เป็นต้น

ทำความรู้จักสายงานด้านจิตแพทย์ จิตบำบัด

ส่วนงานด้านจิตแพทย์จะเป็นสายงานที่สามารถให้ได้ทั้งคำปรึกษา การวินิจฉัยโรค รวมถึงทำการรักษาผ่านการใช้ยาหรือการกระตุ้นสมอง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีต้นตอของอาการทางจิตที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในส่วนการทำงานของสมอง

ผู้ป่วยที่เหมาะจะเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์จึงจะเป็นกลุ่มที่มีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง และมีแนวโน้มสูงที่จะทำร้ายตัวเอง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอันตราย เพราะจิตแพทย์จะสามารถจ่ายยาเพื่อควบคุมให้อาการเหล่านั้นทรงตัวหรือดีขึ้นได้

สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อต้องการรักษาสุขภาพจิตกับแพทย์ จิตบำบัด

1. ความเข้าใจในกระบวนการรักษา

หลายคนอาจเกิดความรู้สึกกังวล เมื่อต้องพูดคุยหรือเปิดใจกับจิตแพทย์หรือนักบำบัดจิต แต่ถ้าหากเราเตรียมตัวด้วยการทำความเข้าใจในกระบวนการรักษามาก่อนแล้วว่า การเข้ารับการรักษาในแต่ละครั้งจะเป็นความลับที่มีแค่ตัวเรากับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะรับรู้ก็จะช่วยลดความรู้สึกไม่ไว้ใจลงไปได้ นอกจากนี้ กระบวนการให้คำปรึกษาจะไม่ได้ตัดสินว่า สิ่งนี้ที่เรารู้สึกเป็นเรื่องผิดหรือถูก แต่จะเป็นเพียงโจทย์ข้อหนึ่งที่ตัวผู้ป่วยและหมอจะต้องช่วยกันค้นหาต้นตอผ่านการถาม-ตอบ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว
ถ้าจะพูดให้เข้าใจแบบง่ายๆ ก็คงเหมือนกับการพูดคุยกับเพื่อนที่รู้ใจ ที่ถ้าหากเราไว้วางใจในเพื่อนผู้เชี่ยวชาญคนนี้ก็จะทำให้การกอบกู้สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ให้กลับมาสดใสทำได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น

2. การยอมรับในตัวเอง

เพราะปัญหาทางใจส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่คนเราไม่ค่อยจะใจดีกับตัวเอง บีบคั้นและคาดหวังตนเองไว้สูง ทำให้เกิดภาวะเครียดสะสม จนนำไปสู่โรคทางใจอีกมากมาย ซึ่งถ้าเราสามารถยอมรับความทุกข์และความเจ็บปวดตรงนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเราจะสามารถยอมรับการปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดได้ดีมากขึ้น

3. เวลา

ต้องเข้าใจก่อนว่า โรคทางใจไม่เหมือนกับโรคทางร่างกายที่สามารถมองเห็นผลของการรักษาได้ค่อนข้างแน่นอน เพราะโรคทางใจจะรักษาหายหรือไม่หายนั้น จะขึ้นอยู่กับความลับซับซ้อนทางด้านจิตใจและประสบการณ์ของตัวผู้ป่วยว่าเลวร้ายมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเจาะลึกถึงปัญหาก่อนจะทำการรักษา รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและคนรอบข้างในแง่ของการปรับตัวและเข้าใจถึงปัญหาค่อนข้างมาก
ดังนั้น ก่อนการเข้ารับการรักษาจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคทางใจที่เกิดขึ้นในแต่ละคนนั้นมีระยะเวลาในการเยียวยาที่แตกต่างกัน

สรุป จิตบำบัด

อย่าปล่อยให้สุขภาพจิตย่ำแย่เพียงเพราะความโดดเดี่ยวที่เราสร้างขึ้นมาเอง ทางที่ดีควรเดินหน้าเข้ารับการรักษา รวมถึงทำความเข้าใจในตัวเองให้ทันเวลา เพื่อป้องกันปัญหาโรคทางใจที่จะตามมาในอนาคต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *