ราคาน้ำมัน

เปิดสาเหตุการปรับ ราคาน้ำมัน ทั่วโลก ตอบคำถาม จากความกังวลใจของ ผู้ใช้น้ำมันในไทย ว่าแท้จริงแล้ว ทำไมราคาน้ำมัน “แพง”

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤต “ราคาน้ำมันแพง” ตั้งแต่ เดือนกันยายน 2564 ซึ่งล่าสุดราคาพุ่งขึ้นไป อยู่เหนือระดับ 90 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากผล การวิเคราะห์ของ ธนาคารระดับโลกอย่าง “มอร์แกนสแตนลีย์” เชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบ จะทะยานไปถึง 100 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล

สำหรับสถานการณ์ ราคาน้ำมัน ในประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 มีการปรับขึ้นลงแล้ว 8 ครั้ง (เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.65) โดยล่าสุด ราคาน้ำมัน ดีเซลอยู่ที่ 29 บาทต่อลิตร และน้ำมันโซฮอล์ อยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร ซึ่งผู้ใช้น้ำมัน ยังเฝ้าจับตารายวันว่า ราคาน้ำมัน “พรุ่งนี้” จะปรับขึ้นอีก หรือมีโอกาสปรับ ลดลงหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปปัจจัยที่ เป็นตัวหนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้

ความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน

สาเหตุหลักของ ราคาน้ำมันแพง “ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์” ระบุว่าไว้ในคอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก ของ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจาก ปัญหาความขัดแย้งเรื่อง “ยูเครน” ระหว่างรัสเซีย (ชาติผู้ผลิต น้ำมันรายใหญ่ที่สุด เป็นอันดับสองของโลก) ฝ่ายหนึ่ง กับบรรดาชาติตะวันตก อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ เกิดปัญหาใน เชิงซัพพลายของ ตลาดน้ำมันโลก ได้ในทันที

โอเปก กำลังการผลิตลดลง

รายงานผล การวิเคราะห์ของ “เจพี มอร์แกน” เมื่อต้นเดือนมกราคม เตือนเอาไว้ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อาจทะลุขึ้นไปอยู่ในระดับ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในอีกไม่ช้าไม่นาน โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะกำลังการผลิตสำรอง ของชาติสมาชิกกลุ่ม ประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือ “โอเปค” ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยถึงไตรมาส 4 ของปี 2565 กำลังการผลิตสำรองที่ว่านี้ จะลดลงเหลือเพียง 4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

โควิด-19 คลี่คลาย

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น ทั่วโลกมีอัตรา การเสียชีวิตน้อยลง ท่ามกลาง การระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอน ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่า สายพันธุ์ดังกล่าว อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โควิดเป็นเหมือน โรคไข้หวัดทั่วไปได้ และทำให้ประชาชน สามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับความปกติมากที่สุด และจะอาจทำให้ไม่มีการประกาศ ล็อกดาวน์อีกต่อไป ส่งผลให้ความต้องการ ในการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มมากขึ้น

ยุโรปเข้าหน้าหนาว

นอกจากนี้ สภาพอากาศหนาวเย็นอันเนื่องมาจากพายุฤดูหนาวในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง และไฟฟ้าดับหลายพันครัวเรือน โดยอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องปิดทำการ ในขณะเดียวกัน ความต้องการใช้เชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้น

ความจริงแล้ว “ไทย” น้ำมันแพงเพราะอะไร

ส่วนสถานการณ์ ราคาน้ำมัน แพงในไทย นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้สัมภาษณ์กับ มติชนออนไลน์ ว่า แม้ไทยจะขุดน้ำมันได้เยอะ แต่ก็ต้องนำเข้าเป็นหลัก เพราะการจัดหาพลังงานในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ จึงต้องนำเข้าทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ

ข้อมูลเฉลี่ยเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ความต้องการน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 951,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ผลิตได้ในประเทศเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะน้ำมันดิบ และต้องผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อแยกสารประกอบออกเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ

โดยที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ถูกออกแบบมาเพื่อกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปสำหรับใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยการอ้างอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชียบวกกับค่าขนส่งมายังโรงกลั่นในประเทศ เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในประเทศต้องไม่สูงกว่าราคาที่อ้างอิง

แก้ปัญหาน้ำมันแพงอย่างไร
นายวัฒนพงษ์ ระบุว่า กระทรวงพลังงานมีมาตรการต่าง ๆ ช่วยบรรเทาผลกระทบภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เงินจาก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ

รวมทั้งยังดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และดูแลราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ แม้กระทรวงพลังงานดำเนินการมาตรการต่างๆ แล้ว แต่ราคายังคงผันผวนในระดับสูง

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงมีมติออกมาตรการ ช่วยเหลือให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รักษาระดับราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยกู้ยืมเงินเพิ่มไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว

ซึ่งประเมินแล้วว่า น่าจะเพียงพอ ถึงไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 และ ปรับลด อัตราการส่งเงินเข้ากองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจาก 0.10 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่อัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี และจัดเก็บในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตรต่ออีก 2 ปี รวมทั้งขอความร่วมมือ ให้ ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง คงค่าการตลาดน้ำมัน กลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

ราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่ม ความต้องการใช้พุ่ง จากอากาศหนาวในสหรัฐฯ
โลกต้องเตรียมพร้อม เผชิญหน้าภาวะ “น้ำมันแพง” !

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *