1 พฤษภาคม 2022
วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้วัดระดับความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในจักรวาล ได้แก่ “มาตรวัดคาร์ดาเชฟ” (Kardashev Scale) ซึ่งนิโคไล คาร์ดาเชฟ นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ได้จัดแบ่งอารยธรรมออกเป็น 3 ประเภท ตามระดับความสามารถในการดึงพลังงานจากสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์
คาร์ล ซาแกน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชื่อดังกล่าวไว้ว่า หากใช้มาตรวัดหรือสเกลดังกล่าวที่ปรับเป็นค่าตัวเลขต่อเนื่องระหว่าง 0-3 ปัจจุบันมนุษย์เราจะมีอารยธรรมหรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่ที่ราว 0.73 ซึ่งเรียกว่าแค่เข้าใกล้การเป็นอารยธรรมประเภทที่ 1 เท่านั้น ทำให้น่าสงสัยว่าเมื่อไหร่เราจะไปถึงจุดนั้นได้เสียที
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้นำเสนอผลคำนวณ ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทำนายถึงช่วงเวลาและวิธีการที่มนุษยชาติจะสามารถยกระดับการดึงพลังงานมาใช้ได้มากขึ้น จนสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นอารยธรรมประเภทที่ 1 ได้ในที่สุด
ตามหลักการของมาตรวัดคาร์ดาเชฟแล้ว อารยธรรมประเภทที่ 1 จะต้องมีความสามารถในการดึงพลังงานทั้งหมดที่ดาวเคราะห์ของตนเองได้รับจากห้วงอวกาศมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสำหรับโลกแล้วคิดเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ราว 10^16 วัตต์ แต่ในปัจจุบันมนุษย์ดึงพลังงานดังกล่าวมาใช้ได้เพียง 10^13 วัตต์
อารยธรรมระดับที่สูงขึ้นไปสามารถดึงพลังงานจากสิ่งแวดล้อมมาใช้ได้มากกว่า โดยอารยธรรมประเภทที่ 2 สามารถดึงพลังงานทั้งหมดจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบสุริยะของตนเองมาใช้ได้ (10^26 วัตต์) ส่วนอารยธรรมประเภทที่ 3 สามารถดึงพลังงานของทั้งดาราจักรหรือกาแล็กซีของตนเองมาใช้ได้ (10^36 วัตต์)
นักวิทยาศาสตร์บางคนยังถือว่าอาจมีอารยธรรมประเภทที่ 4, 5, 6 อยู่ด้วย โดยจินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่สามารถดึงพลังงานในระดับเอกภพ, พหุภพ, และสิ่งที่อยู่นอกเหนือปริภูมิ-เวลา มาใช้ได้ตามต้องการ
แต่ทว่าการเร่งดึงและใช้พลังงาน เพื่อให้เข้าถึงระดับของอารยธรรมที่สูงขึ้นไปไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของโลกที่เผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้ทรัพยากรพลังงานชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยได้คำนวณหาจุดสมดุลในการใช้พลังงาน 3 ชนิด ได้แก่เชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยกำหนดให้การใช้ประโยชน์อยู่ภายในขอบเขตที่จะก่อมลพิษและภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
ผลปรากฏว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มระดับการใช้พลังงานขึ้นอย่างระมัดระวัง จนไปถึงเป้าหมายคือการเป็นอารยธรรมประเภทที่ 1 ได้ ในอีกราว 350 ปีข้างหน้า หรืออย่างน้อยภายในปี ค.ศ. 2371 โดยที่มนุษย์จะไม่สูญพันธุ์ไปเสียก่อนจากสภาพแวดล้อมโลกที่ถูกทำลายยับเยิน
แม้จะมีความเป็นไปได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่าการยกระดับอารยธรรมของมนุษย์นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ระดับพลังงานมาเป็นตัวชี้วัด เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถจะอยู่ที่การเพิ่มประโยชน์ใช้สอย โดยประหยัดพลังงานให้มากที่สุดได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับสภาพการณ์ของโลกในตอนนี้มากกว่า
เนื้อหาจาก : BBC New Thai
One Response