น้ำมันมะกอก

น้ำมันมะกอก (Olive Oil) เป็นน้ำมันธรรมชาติที่สกัดจากผลของต้นมะกอก ผู้คนนิยมนำน้ำมันมะกอกมาใช้ประกอบอาหาร หรือเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตหลากหลายรูปแบบ เช่น การผลิตสบู่ พลาสเตอร์ น้ำมันนวด วัสดุอุดฟัน และล่าสุดได้มีการผลิตน้ำมันมะกอกชนิดบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin Olive Oil) ขึ้นมา โดยเชื่อว่ามีคุณสมบัติและประสิทธิภาพสูงกว่าน้ำมันมะกอกทั่วไป เพราะน้ำมันมะกอกชนิดบริสุทธิ์พิเศษมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างจากน้ำมันมะกอกทั่วไป คือ ผ่านการสกัดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ทำให้คงคุณค่าและสารอาหารทางโภชนาการที่มีประโยชน์ไว้ได้มากกว่าน้ำมันมะกอกที่ผลิตด้วยวิธีทั่วไปนั่นเอง นอกจากกรรมวิธีการสกัดแล้ว ในกระบวนการผลิตน้ำมันมะกอกชนิดบริสุทธิ์พิเศษ อาจเติมสารเคมีจำพวกสารอนุมูลอิสระ เพื่อต้านการหืน เป็นประโยชน์ต่อการเก็บผลิตภัณฑ์ได้นาน แต่อาจทำให้รสชาติไม่ดีเท่าสารสกัดแต่ดั้งเดิม

น้ำมันมะกอก

สารทางธรรมชาติในน้ำมันมะกอกอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย จึงมีการค้นคว้าหาคุณประโยชน์ของน้ำมันมะกอกในเชิงการแพทย์และการรักษา โดยสารสำคัญที่พบในน้ำมันมะกอก ได้แก่ กรดไขมันต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fat) กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fat) ที่จะช่วยลดระดับไขมันเลวในร่างกายลง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากระดับไขมันในเลือดสูงอย่างโรคหัวใจด้วย และในน้ำมันมะกอกบางชนิดอาจประกอบด้วยสารพฤกษเคมี (Phytonutrients) ซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันโรคต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหารหรือสารเคมีชนิดใด รวมทั้งน้ำมันมะกอก ย่อมส่งผลต่อร่างกายไม่มากก็น้อย และไม่ในทางบวกก็ในทางลบ ดังนั้น ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนว่าอาหาร อาหารเสริม ยา หรือสารใด ๆ สามารถส่งผลต่อตนเองได้อย่างไรบ้าง

ตัวอย่างในการค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิผลของน้ำมันมะกอกในแต่ละด้าน

คุณประโยชน์ที่เป็นไปได้ของ น้ำมันมะกอก

ภาวะไขมันในเลือดสูงและความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

จากการวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของน้ำมันมะกอก 15 กรณีศึกษา ที่มีผู้เข้ารับการทดลองกว่า 1,053 ราย พบว่าน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์อาจมีความสัมพันธ์ต่อการลดระดับไขมันในเลือดรวม (Total Cholesterol) ในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงได้ ช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ และอาจเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction)

ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งได้ทำการทดลองประสิทธิผลของการบริโภคน้ำมันมะกอกต่อการทำงานของหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มทดลองผู้ชายที่มีภาวะอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน 28 คน พบว่าการบริโภคน้ำมันมะกอกไม่มีผลต่อการทำงานของหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี กลับไม่พบประสิทธิผลดังกล่าวในน้ำมันมะกอกที่ไม่ได้ถูกสกัดมาแบบบริสุทธิ์ และการค้นคว้าถึงประสิทธิผลในด้านการลดระดับไขมันในเลือดที่อาจเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ควรดำเนินต่อไป เพื่อหาข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานที่ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนจะนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการรักษาโรคได้ในอนาคต

น้ำมันมะกอก

ลดน้ำหนัก

จากการทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการช่วยลดน้ำหนักตัวระหว่างการบริโภคอาหารไขมันต่ำตามมาตรฐานทั่วไปกับอาหารที่มีน้ำมันมะกอกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งทดลองในผู้ที่รอดชีวิตหลังป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมที่มีภาวะน้ำหนักเกินจำนวน 44 ราย หลังการทดลองกว่า 8 สัปดาห์ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ที่บริโภคอาหารที่มีน้ำมันมะกอกเป็นส่วนประกอบมีน้ำหนักตัวที่ลดลงมากกว่าผู้ที่บริโภคอาหารไขมันต่ำตามมาตรฐานทั่วไป

อีกหนึ่งกรณีศึกษา ที่ทำการทดลองโดยให้ผู้ทดลองเพศชาย 11 คน บริโภคโยเกิร์ตไขมันต่ำเปรียบเทียบกับโยเกิร์ตไขมันต่ำที่ผสมสารแต่งกลิ่นน้ำมันมะกอก จากนั้นจึงวิเคราะห์ผลด้วยภาพฉายจาก MRI Scan ที่แสดงปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ พบว่า การบริโภคโยเกิร์ตไขมันต่ำที่ผสมสารแต่งกลิ่นน้ำมันมะกอกอาจกระตุ้นประสาทรับรู้ในสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมไขมันในร่างกาย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการบริโภคไขมันโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม การวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก การค้นคว้าถึงประสิทธิภาพในด้านการลดน้ำหนักของน้ำมันมะกอกที่อาจเป็นผลดีต่อผู้ที่มีภาวะอาการต่าง ๆ ควรดำเนินต่อไป เพื่อหาข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานที่ถูกต้องชัดเจนที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการบำบัดรักษาในอนาคตได้

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

เมื่อวิเคราะห์จากงานทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพในเชิงป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 6,705 คน ที่ได้ทดลองบริโภคอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่มีน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์พิเศษเป็นส่วนผสม พบว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้อย่างมีนัยสำคัญ

ความดันโลหิตสูง

ในการทดลองหาประสิทธิผลของสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ในน้ำมันมะกอกต่อการลดความดันโลหิตและการทำงานของหลอดเลือดหัวใจในหญิงสาวที่มีภาวะความดันโลหิตสูงระดับไม่รุนแรง ผลลัพธ์ที่ได้แสดงถึงประสิทธิผลของสารโพลีฟีนอลในน้ำมันมะกอกที่สามารถลดระดับความดันโลหิตในกลุ่มทดลองลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยระดับความดันซิสโตลิกที่ลดลง คือ 7.91 มิลลิเมตรปรอทในขณะที่ความดันไดแอสโตลิกลดลง 6.65 มิลลิเมตรปรอท และอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดหัวใจให้ดีขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงระดับไม่รุนแรง

กลุ่มอาการเมตาบอลิก

งานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันมะกอกที่มีผลต่อระดับไขมันในเลือดและภาวะเครียดออกซิเดชันในผู้ป่วย 102 รายที่มีกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) หรือภาวะอ้วนลงพุง พบกว่าการบริโภคน้ำมันมะกอกพร้อมกับน้ำมันปลาที่มีโอเมก้า-3 จะช่วยในกระบวนการเมตาบอลิซึมไขมัน ซึ่งเป็นการช่วยลดระดับไขมันรวมและไขมันชนิดไม่ดี และยังพบว่าอาจช่วยลดปฏิกิริยาการเกิดอนุมูลอิสระในผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้

ท้องผูก

จากการศึกษาประสิทธิผลระยะสั้นของน้ำมันมะกอกด้านการบำบัดรักษาภาวะท้องผูก ในผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการฟอกไต 50 ราย เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า การใช้น้ำมันมะกอกในการรักษามีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ในภาวะท้องผูกดีขึ้น อย่างความรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อุจจาระเป็นก้อนแข็ง ขับถ่ายลำบาก ดังนั้น การใช้น้ำมันมะกอกเป็นประจำทุกวันอาจเป็นประโยชน์ต่อการขับถ่ายในผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูก

อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้เป็นเพียงผลการทดลองในระยะสั้น จึงควรมีการค้นคว้าทดลองในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนอันเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

การต้านอนุมูลอิสระ

จากการวิจัยน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ที่มีสารไลโคปีน (Lycopene) ถึงประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ในกลุ่มทดลอง 3 ช่วงอายุ คือ วัยหนุ่มสาว (อายุ 25-30 ปี) วัยกลางคน (อายุ 35-55 ปี) และวัยชรา (อายุ 65-85 ปี) พบว่า การบริโภคน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการต้านอนุมูลอิสระในระบบทางเดินปัสสาวะแก่ผู้ทดลองวัยกลางคนและวัยชรา ในขณะที่น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ที่มีสารไลโคปีนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการต้านอนุมูลอิสระในระบบทางเดินปัสสาวะให้สูงขึ้นได้ทั้งใน 3 กลุ่มอายุ ซึ่งประสิทธิผลของน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์นี้ อาจช่วยป้องกันหรือต้านทานโรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับภาวะเครียดออกซิเดชันซึ่งสร้างสารอนุมูลอิสระได้ด้วย

ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาในด้านดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นต่อไป

การติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร

จากการวิเคราะห์ตัวอย่างกรณีศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลทางการรักษาของน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร (H. Pylori) ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้ารับการทดลองกว่า 60 ราย หลังการทดลองด้วยการใช้น้ำมันมะกอกในผู้ป่วยเหล่านี้ จึงทำการตรวจหาแบคทีเรียในกระเพาะอาหารผ่านทางลมหายใจ (Urea Breath Test) ผลปรากฏว่า น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์มีประสิทธิภาพระดับปานกลางที่ระดับ 10 และ 11% ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร ที่ 4-6 สัปดาห์ หลังได้รับน้ำมันมะกอกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน

แม้จะมีประสิทธิผลที่ปรากฏบางประการ แต่การค้นคว้าทดลองต่อไปถึงประสิทธิผลของน้ำมันมะกอกก็ยังคงมีความจำเป็น เพื่อให้ได้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงประสิทธิผลของน้ำมันมะกอก ทั้งในการทดลองระยะยาว และในการทดลองที่ใช้น้ำมันมะกอกหลากหลายชนิดต่อไป

สมมติฐานที่อาจคลาดเคลื่อน หรือยังพิสูจน์ได้ไม่แน่ชัด

ผิวแตกลาย

การทดลองหนึ่งที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันมะกอกในการลดการเกิดผิวแตกลายในผู้หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 ที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อน จากผู้ทดลองทั้งสิ้น 360 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ใช้น้ำมันมะกอก กลุ่มที่ใช้ครีมรักษาชนิดหนึ่ง และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใช้ครีมหรือน้ำมันชนิดใด ๆ ผลลัพธ์คือ ไม่ปรากฏประสิทธิผลทางการรักษาผิวแตกลายที่มีนัยสำคัญในผู้รับการทดลองทั้ง 3 กลุ่ม

อีกการทดลองหนึ่งที่ทดลองในผู้หญิงตั้งครรภ์ 100 คนที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อน พบว่าน้ำมันมะกอกช่วยลดระดับการแตกลายของผู้ที่มีผิวแตกลายระดับรุนแรง แต่การลดระดับความรุนแรงในการแตกลายของผิวดังกล่าวก็ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างเพียงพอ หรือมีนัยสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดในการป้องกันการเกิดผิวแตกลายได้แต่อย่างใด

ส่วนผู้บริโภคที่ต้องการใช้น้ำมันมะกอกหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะกอกบำรุงสุขภาพในด้านต่าง ๆ ควรศึกษาข้อมูลของส่วนประกอบ ปริมาณการใช้งาน และวิธีการในการบริโภคให้ดีก่อนเสมอ หากมีข้อสงสัย ควรสอบถามและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการนำไปใช้หรือการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีภาวะอาการป่วย ควรเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่แพทย์กำหนด ไม่ควรใช้อาหารหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ รักษาอาการป่วยด้วยตนเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ความปลอดภัยในการใช้น้ำมันมะกอก

แม้จะมีการพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ในบางด้านที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้น้ำมันมะกอก แต่ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันมะกอกและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ในภายหลัง

ผู้บริโภคทั่วไป

ผู้ที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *