ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่มีความละเอียดอ่อนการ ถนอมสายตา จึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งเราควรให้การดูแลเป็นพิเศษ ในปัจจุบันนี้ไลฟ์สไตล์ของเรามีผลกระทบกับสุขภาพของดวงตา โดยมักจะใช้ดวงตาไปกับการจ้องมองอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าการอ่านหนังสือ เช่น สมาร์ทโฟน จอคอมพิวเตอร์ จอทีวี เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะมีแสงสีฟ้าส่งออกมาจากหน้าจอ ทำให้ดวงตาแห้ง ตาล้า และยังส่งผลต่อการนอนหลับอีกด้วย
แสงสีฟ้าคืออะไร?
แสงสีฟ้า – Blue Light เป็นภัยใกล้ตัวที่เราคาดไม่ถึง เป็นแสงประเภทพลังงานสูง แสงสีฟ้านี้สามารถทะลุทะลวงได้ถึงจอประสาทตา และทำลายจอประสาทตาได้ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้นกว่าปกติอีกด้วย โดยแสงสีฟห้าจะมีอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงอาชีพที่ต้องมีการใช้แสง เช่น การเชื่อมเหล็ก เป็นต้น
ผลกระทบจากแสงสีฟ้า
ในแต่ละวันเราสามารถเจอแสงสีฟ้าได้ตลอดเวลา ทั้งจากแสงแดดตามธรรมชาติและจากแหล่งกำเนิดแสงต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ความเป็นจริงผลกระทบจากแสงสีฟ้าต่อร่างกายมีทั้งผลดีและผลเสียหากใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่เหมาะสม
- เปลี่ยนนาฬิกาชีวิต โดยธรรมชาติแสงสีฟ้ามีผลต่อ Circadian Rhythm หรือนาฬิกาชีวิตที่ทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ ช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกมา ทำให้กระฉับกระเฉง รู้เวลานอน รู้เวลาตื่น แต่หากได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอในเวลากลางคืนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระบบนี้จะถูกรบกวนส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นลำบาก จนรู้สึกว่าร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาจส่งผลกระทบกับงานหรือชีวิตประจำวันได้
- ทะลวงอวัยวะ ด้วยเหตุที่แสงสีฟ้ามีพลังงานสูง เมื่อเทียบกับความยาวคลื่นของแสงในช่วงอื่น ๆ จึงสามารถทะลุทะลวงอวัยวะอย่างดวงตา ตั้งแต่กระจกตา เลนส์ตา ไปจนถึงจอตาที่อยู่ลึกเข้าไปและเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็น ก่อให้เกิดอันตรายจากแสงสีฟ้า (Blue Light Hazard)
- เมื่อยล้า ปวดตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล ตาพร่ามัว มักเป็นในคนที่ทำงานหรือใช้หน้าจอเป็นเวลานาน หรือรวมเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Computer Vision Syndrome ซึ่งอาจเกิดจากดวงตาได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจออย่างต่อเนื่อง คลื่นแสงที่มีพลังงานสูง อาจทำลายเซลล์ผิวกระจกตาและเยื่อบุตา บวกกับการสั่นกระพริบของหน้าจอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนักมากขึ้นในการปรับโฟกัสภาพ การที่แสงจากหน้าจอที่ไม่พอเหมาะและความไม่คมชัดของตัวอักษรบนหน้าจอ ทำให้ต้องเพ่งมากขึ้นและกะพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้ง
- จอประสาทตาอาจเสื่อม เนื่องจากแสงสีฟ้าสามารถทะลุเข้าไปและทำลายเซลล์รับแสงในจอตา อาจทำให้การมองเห็นส่วนกลางแย่ลงได้ แต่ยังมีเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองและในห้องปฏิบัติการที่พบการถูกทำลายของเซลล์รับแสงในจอตา ยังไม่ยืนยันแน่นอนว่าเป็นสาเหตุของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age – Related Macular Degeneration)
คำแนะนำในการ ถนอมสายตา จากแสงสีฟ้า
- ไม่จ้องหน้าจอใกล้เกินไป การเพ่งหน้าจอใกล้เกินไป เป็นการทำร้ายดวงตา ควรเว้นระยะห่างจากหน้าจอไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต
- ปรับความสว่างหน้าจอ แสงที่มืดหรือจ้าเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสายตา โดยควรปรับระดับแสงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สังเกตจากที่เราไม่ต้องหรี่ตาเวลามองหน้าจอ
- กะพริบตาบ่อยๆ แสงสีฟ้าที่ส่งออกมา ส่งผลให้ดวงตาแห้ง ตาล้า เนื่องมาจากการมองจอเป็นเวลานานๆ การกระพริบตาบ่อยๆ จะช่วยให้ดวงตามีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ โดยควรกะพริบตา 1-2 ครั้งต่อ 10 วินาที หรืออาจใช้น้ำตาเทียมก็ได้เช่นกัน
- ปรับขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น ตัวอักษรที่เล็กเกินไป ทำให้ต้องใช้สายตาในการเพ่งหน้าจอ การตั้งค่าตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้สบายตา และไม่ต้องใช้สายตาเพ่งหน้าจอมากเกินไป
- พักสายตาบ้าง ควรพักสายตาทุกๆ 20 นาที โดยมองออกไปในระยะไกลๆ จะช่วยบรรเทาความเมื่อยล้าจากการใช้สายตาได้ เพราะการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานเกินกว่า 2 ชั่วโมง อาจจะทำให้สายตาอ่อนล้าและปวดเกร็งได้
- ไม่ใช้อุปกรณ์ในที่มืด การจ้องมองในที่มืดทำให้รูม่านตาต้องขยายมากขึ้น แสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะทำร้ายดวงตาของเราได้
- ตรวจสุขภาพตา ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติอื่นๆ และป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้สูญเสียดวงตา
ยุคดิจิทัลแบบนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน หรืออาชีพใด ดังนั้น เราควรถนอมสายตาจากแสงสีฟ้าเพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีของเราทุกคน