ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564 ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) โดยนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของเมืองไทย ซึ่งการได้ขึ้นทะเบียนครั้งนี้ทำให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจ ในถิ่นฐานที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล วันนี้เราเลยจะพาเพื่อน ๆ เข้าไปสำรวจความหลากหลายและความสมบูรณ์ของธรรมชาติของสถานที่แห่งนี้ กับเรื่องราวน่ารู้ต่าง ๆ มากมาย โดยเริ่มกันที่
ความเป็นมา ดอยเชียงดาว
ดอยเชียงดาวหรือดอยหลวงเชียงดาว ตั้งอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง (บางส่วน) ตำบลเมืองงาย ตำบลเมืองคอง ตำบลเชียงดาว และตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ประกาศจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 แต่เดิมมีชื่อว่า “ดอยเพียงดาว” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “เชียงดาว” อย่างในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ ให้คงความอุดมสมบูรณ์ ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญกับการอนุรักษ์ โดยมีประวัติการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเป็นเวลามากกว่า 600 ปี เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนเผ่าชาวไทยภูเขา 5 ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกาเกอะญอ และชาวไทยล้านนา ซึ่งแต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
สภาพภูมิประเทศของดอยเชียงดาว
ดอยเชียงดาว มีสภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูน บนยอดดอยมักเป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ และมี “ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ความสูง 2,225 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประกาศขึ้นทะเบียน ดอยเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล
สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กำหนดจัดการประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน พ.ศ. 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย ในการนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมดังกล่าว เนื่องจากมีการพิจารณารับรองการเสนอพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ จำนวน 22 แห่ง มีพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะมีการพิจารณาบรรจุในบัญชีรายชื่อพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ของปี ค.ศ. 2021 ด้วย
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) แถลงผลการพิจารณาของ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระบุว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีความมหัศจรรย์ ไม่เพียงแต่ในด้านของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ สัตว์ป่าเฉพาะถิ่นและหายาก แต่ยังรวมถึงความผูกพันทางจิตวิญญาณของผู้คนท้องถิ่นที่มีต่อดอยเชียงดาว ปราชญ์ ศิลปิน ผู้นำและชุมชนที่เข้มแข็ง เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิด และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะส่งต่อให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ด้วยศักยภาพของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ในการเป็นต้นแบบของการบูรณาการความรู้ ทั้งด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (BCG Economy) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และแนวคิด เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ในระดับประเทศและสากล ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวเชียงดาวและจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ หวังว่าสถานะของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ที่เป็นสากลจะเป็นประโยชน์ต่อชาวเชียงดาว ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้อยู่คู่กับชาวเชียงดาวอย่างยั่งยืน บนฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มั่นคงในระยะยาว
เหตุผลที่ ดอยเชียงดาว ได้รับเลือก
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีระบบนิเวศที่โดดเด่น คือ ป่าเปิดระดับสูง (Subalpine vegetation) พบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระบบนิเวศที่บ่งชี้ความเชื่อมต่อทางระบบนิเวศ ในแนวเทือกเขาหิมาลัยและจีนตอนใต้ ทำให้พื้นที่นำเสนอนี้เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพรรณพืชเฉพาะถิ่นจำนวนมาก
- พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูนโดดเด่นตระหง่าน มีดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย
- เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักรักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟู ให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี ธรรมชาติที่เป็นแกนกลางของพื้นที่ดอยเชียงดาวได้อำนวยนิเวศบริการแก่ชุมชนโดยรอบ
- มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่หาได้ยากยิ่งในประเทศไทย รวมถึงเป็นถิ่นอาศัยของพรรณไม้มากกว่า 2,000 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณไม้ในประเทศไทย และมีพรรณไม้ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าภูมิประเทศนี้ทอดยาวลงมาจากตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูง Qinghai – Tibet และจีนตอนใต้