หากคุณเริ่มรู้สึกว่าตามัว หรือเห็นแสงแตกกระจายในขณะขับรถ ถึงแม้จะใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ก็ไม่หาย คุณอาจมีภาวะ ต้อกระจก ที่เกิดจากภาวะเสื่อมของเลนส์กระจกตา พบมากในผู้สูงอายุ และยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิด ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดทำให้สายตากลับมาดีเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม โรคต้อกระจก ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดทุกคน ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดในรายที่เลนส์แก้วตาขุ่น มัว เป็นฝ้า บดบังการมองเห็น ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เพราะฉะนั้นหากแพทย์แนะนำให้รับการผ่าตัดต้อกระจก ก็ควรรีบเข้ารับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้นาน ตาจะมัวลงจนถึงขั้นมองไม่เห็น และต้อกระจกจะแข็งมาก ทำให้การผ่าตัดยากและต้องเปิดแผลใหญ่ขึ้น
บทความให้ความรู้โดย พญ.ชุณหกาญจน์ เพ็ชรพันธ์ศรี จักษุแพทย์เฉพาะทางกระจกตาและการแก้ไขสายตา ศูนย์ตา โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้คำแนะนำกับผู้ที่ต้องประสบปัญหาโรคต้อกระจก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักมีสาเหตุมาจากการเสื่อมไปตามวัย ซึ่งพบได้มากในปัจจุบัน พร้อมอธิบายถึงวิธีการสังเกตความผิดปกติไปจนถึงขั้นตอนเข้ารับการรักษา
5 สัญญาณอันตราย “ต้อกระจก” ในผู้สูงอายุ
- ตามัว มองเห็นไม่ชัด แม้จะเปลี่ยนแว่นสายตาก็ไม่ชัด
- มองเห็นภาพเป็นเงาซ้อน
- มองเห็นแสงไฟกระจายแตกเป็นแฉก
- มองเห็นสีต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิม
- มีฝ้าขาว บริเวณกลางรูม่านตา
อาการเหล่านี้ คือ สัญญาณของโรคต้อกระจก สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออก แล้วเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน โดยเลนส์แก้วตาเทียมเป็นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เป็นการถาวร ไม่มีวันหมดอายุ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักโรคต้อกระจกกันเถอะ
ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร
โรคต้อกระจก คือ ภาวะเสื่อมของเลนส์กระจกตา เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในคนสูงอายุ เกิดจากการเสื่อมไปตามวัย โดยพบว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 60 ปี จะเป็นต้อกระจก
สาเหตุของโรคต้อกระจก
- เกิดจากภาวะเสื่อมของเลนส์กระจกตาที่เสื่อมไปตามวัย เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในคนสูงอายุ
- เกิดได้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิด สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อบางชนิด หรือบางรายเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เกิดจากผลแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ และเบาหวาน
- เกิดจากการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
- เกิดจากอุบัติเหตุ ที่ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา
การรักษาต้อกระจก
ในปัจจุบันยังไม่มียารับประทาน หรือยาหยอดตาที่ใช้ป้องกัน และรักษาต้อกระจกให้หายได้ แต่การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยเลนส์แก้วตาเทียมเป็นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เป็นการถาวร ไม่มีวันหมดอายุ หรือไม่ต้องคอยเปลี่ยนใหม่เมื่อเวลาผ่านไป เลนส์แก้วตาเทียมมีหลายชนิดที่เหมาะสมในคนไข้แต่ละราย และมีความปลอดภัยสูง
การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 ประเภท ได้แก่
- การผ่าแผลเล็กหรือการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) การผ่าตัดวิธีนี้ จักษุแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงมาทำให้เนื้อเลนส์แก้วตาสลายเป็นชิ้นเล็กและดูดออก จากนั้นใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กสอดผ่านแผลผ่าตัดเข้าไปในลูกตา ทำให้มีแผลผ่าตัดเพียง 3 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงหายเร็วขึ้น สายตาชัดเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลง และกลับไปใช้ชีวิตได้เร็วขึ้น
- การผ่าแผลใหญ่หรือการผ่าต้อกระจก (Extracapsular Cataract Extraction หรือ ECCE) การผ่าตัดวิธีนี้มีการเปิดแผลใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตร เพื่อคีบเอาเลนส์ออกมาทั้งชิ้น ทำให้ดวงตามีการกระทบกระเทือนมากกว่า ต้องพักฟื้นนานกว่า แต่ทั้งสองวิธีสามารถใช้เลนส์เทียมเข้าทดแทนเลนส์เดิมที่ผ่าออกมาได้
หากไม่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกจะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อปล่อยให้ต้อกระจกสุกเต็มที่ (Mature Cataract) จะทำให้เลนส์ตาแข็งตัวมาก จนกระทั่งไม่สามารถใช้เทคนิคการผ่าแผลเล็กหรือการสลายต้อกระจกได้ จะต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่แทน ถ้าต้อกระจกสุกเต็มที่จนกระทั่งถุงหุ้มเลนส์แตก อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงของดวงตาได้ และถ้ารักษาไม่ทัน อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน
การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียม
- เลนส์มาตรฐานระยะเดียว (Monofocal IOL) เป็นเลนส์ที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการมองไกล ทำให้ผู้ป่วยมองไกลได้ชัดขึ้น แต่ในเวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ อาจต้องใส่แว่นมองใกล้เพิ่ม
- เลนส์หลายระยะ (Multifocal IOL) ใช้ดูได้ทั้งระยะใกล้ และระยะไกล
- เลนส์แก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) ในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่แล้วก่อนผ่าตัด เพื่อทำให้สายตาเอียงลดน้อยลง